วันศุกร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2556

อะไรเรียกว่า...หลักธรรมของความซื่อสัตย์ภักดีและโอบอ้อมอารีให้อภัย


อะไรเรียกว่าหลักธรรมของความซื่อสัตย์ภักดีและโอบอ้อมอารีให้อภัย

     ท่านจูจื่ออธิบายว่า "การทำสุดกำลังของตน เรียกว่าความซื่อสัตย์ภักดี การเอาใจเขามาใส่ใจเรา เรียกว่าความโอบอ้อมอารีให้อภัย"

     ดูจากตรงนี้แล้วไม่ว่าเรื่องใดทำอย่างสุดจิตสุดใจและใส่ใจ ก็เรียกว่า ซื่อสัตย์ภักดี ผู้ทรงคุณธรรมในอดีตกล่าวไว้ว่า "เสียงลม เสียงฝน เสียงอ่านหนังสือ ทุกเสียงก็ไพเราะหมด เรื่องครอบครัว เรื่องบ้านเมือง เรื่องทั่วหล้า ทุกเรื่องล้วนใส่ใจ" จึงกล่าวกันว่า "บ้านเมืองจะรุ่งเรืองหรือล่มสลาย ไม่ว่าใครก็มีหน้าที่รับผิดชอบ" 

     ในประัวัติศาสตร์ ท่านอีอิ่นก็คือแบบอย่างของผู้กล้าในการแบกรับ ปราชญ์เมิ่งจื่อจึงยกย่องท่านว่า "ท่านอีอิ่นเป็นหนึ่งในพระอริยะผู้มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่เป็นที่สุด"
     ในคัมภีร์เมิ่งจื่อ บันทึกไว้ว่า "ท่านอีอิ่นกล่าวไว้ว่า ฟ้ากำเนิดประชาราษฎร์ ให้ผู้รู้ก่อนชี้นำผู้มาทีหลังให้รู้ ให้ผู้ตื่นแจ้งก่อนชี้นำผู้มาทีหลังให้ตื่นแจ้ง เราคือผู้ตื่นแจ้งก่อนประชาราษฎร์ เราจะนำธรรมนี้มาชี้นำให้ประชาราษฎร์ตื่นแจ้งด้วย เมื่อท่านอีอิ่นนึกถึงประชาราษฎร์ ไม่ว่าจะชายหรือหญิง หากผู้ใดไม่ได้รับบารมีคุณจากอริยกษัตริย์เหยาและอริยกษัตริย์ซุ่น นั่นเหมือนดั่งตนเองผลักพวกเขาตกลงไปในคูน้ำ ท่านจึงขอแบกรับหน้าที่อันยิ่งใหญ่เพื่อคนทั่วหล้า"
     ในเวลานี้ผู้บำเพ็ญมากมาย หากไม่แบกรับหน้าที่อันยิ่งใหญ่ ก็จะถดถอยไม่ก้าวหน้า หรือไม่ก็เป็นทหารหนีทัพของอาณาจักรธรรม หากเป็นเช่นนี้จะทำให้บรรพชนได้รับความอับอายเป็นอย่างยิ่ง

     คำว่า "忠" (จง แปลว่า ความซื่อสัตย์ภักดี) มาจากคำว่า "中" (จง แปลว่า ความเป็นกลาง) และคำว่า "心" (ซิน แปลว่า ใจ) หมายถึง จิตหนึ่งใจเดียวไม่เอนเอียง
     ส่วนคำว่า "ซู่" (แปลว่า ความโอบอ้อมอารีให้อภัย) มาจากคำว่า "如" (หยู แปลว่า เหมือนดั่ง) และคำว่า "心" (ซิน แปลว่า ใจ) หมายถึงการเอาใจเขามาใส่ใจเรา เห็นใจกัน
     ดั่งนั้นคำว่า "จงซู่" แปลว่า ความซื่อสัตย์ภักดีและโอบอ้อมอารีให้อภัย จึงไม่ห่างจากคำว่า  "心" (ซิน แปลว่า ใจ)

     คัมภีร์เถาเอวี๋ยนหมิงเซิ่งจิงกล่าวไว้ว่า "เราเคยกล่าวไว้ว่า ตะวันอยู่บนฟ้า ใจอยู่ในตัวคน ใจเป็นรากฐานของทุกเรื่อง คุณธรรมสามัญห้าที่กล่าวอยู่ในศาสนาปราชญ์ พระรัตนตรัยที่กล่าวอยู่ในศาสนาพุทธ และสามสิ่งวิเศษที่กล่าวอยู่ในศาสนาเต๋า ล้วนสำแดงออกมาจากใจนี้" อาศัยความซื่อสัตย์ภักดีมาปกป้อง และดำเนินตามหลักธรรมฟ้า อาศัยความโอบอ้อมอารีให้อภัยมาปฏิบัติต่อผู้คน


  • ความซื่อสัตย์ภักดี หมายถึงการทัดทานด้วยความจริงใจ ส่วนความโอบอ้อมอารีให้อภัย หมายถึงการเป็นเลิศในการนำพา
  • ความซื่อสัตย์ภักดี คือการทำการใดๆ ด้วยใจเที่ยงตรงเสมอ ส่วนความโอบอ้อมอารีให้อภัย คือการอาศัยกุศโลบายมาโน้มนำผู้คน
  • ความซื่อสัตย์ภักดี คือจิตใจที่จงรักภักดีดั่งดวงตะวันที่เจิดจ้า ส่วนความโอบอ้อมอารีให้อภัย ดั่งแสงจันทราที่เมตตาและอ่อนโยน
  • ความซื่อสัตย์ภักดี คือการสำแดงจิตตนอย่างเต็มที่ ส่วนความโอบอ้อมอารีให้อภัยคือการทำให้คนทั้งหลายสำแดงจิตอย่างเต็มที่ และทำให้สรรพสิ่งสำแดงศักยภาพได้อย่างเต็มที่
  • ความซื่อสัตย์ภักดี คือความยุติธรรมเที่ยงธรรม ส่วนความโอบอ้อมอารีให้อภัย คือความเมตตาการุณย์
  • ความซื่อสัตย์ภักดี เป็นสภาวะหยัง อันแข็งแกร่ง ส่วนความโอบอ้อมอารีให้อภัย เป็นสภาวะอิน อันอ่อนโยน หากผู้ใดมีความซื่อสัตย์ภักดีจะเป็นที่น่าเคารพยำเกรง หากผู้ใดมีความโอบอ้อมอารีใ้ห้อภัย ไม่ว่าใครเข้าใกล้ก็รู้สึกอบอุ่นใจ
  • ความซื่อสัตย์ภักดีเป็นวิธีการที่ถูกต้อง ส่วนความโอบอ้อมอารีให้อภัยเป็นความกลมกลืนทุกทิศทาง

     ความหมายของความซื่อสัตย์ภักดีและความโอบอ้อมอาีรีให้อภัยนั้นมีมากมายนักกล่าวให้ลึกซึ้งอีกระดับได้ว่า...เมื่อใจดำรงอยู่ในความเป็นกลางได้ นั่นก็คือความซื่อสัตย์ภักดี เมื่อใจสำรวมเป็นหนึ่งไ้ด้ นั่นก็คือ ความโอบอ้อมอารีให้อภัย เมื่อสำแดงความซื่อสัตย์ภักดีได้ถึงที่สุด ฟ้าและคนก็เป็นหนึ่งเดียวกัน เมื่อสำแดงความโอบอ้อมอารีให้อภัยได้ถึงที่สุด ก็จะไร้ซึ่งความยึดติดในอัตตาและบุคคล

ความซื่อสัตย์ภักดี คือสภาวะเดิม ส่วนความโอบอ้อมอารีให้อภัย คือการสำแดงศักยภาพ
ความซื่อสัตย์ภักดี คือการทำให้ตนเองรู้ตื่น ส่วนความโอบอ้อมอารีให้อภัย คือการทำให้ผู้อื่นรู้ตื่นด้วย
ความซื่อสัตย์ภักดี เป็นการเทิดทูนคุณธรรม ส่วนความโอบอ้อมอาีรีให้อภัย เป็นการตอบแทนพระคุณ

     หลักธรรมของความซื่อสัตย์ภักดี และความโอบอ้อมอารีให้อภัย ครอบคลุมอย่างกว้างขวาง หากสามารถหลอมรวมหลักธรรมของความซื่อสัตย์ภักดีและความโอบอ้อมอารีให้อภัยให้เป็นหนึ่งเดียวกันได้ อีกทั้งถ่องแท้ใน "หนึ่ง" นี้ ก็จะสามารถอาศัย "หนึ่ง" มารู้แจ้งแทงตลอดได้ "หนึ่ง" ก็คือทุกสิ่ง และทุกสิ่งก็คือ "หนึ่ง" จึงกล่าวว่า เมื่อได้รับหนึ่ง ทุกสิ่งก็เพียบพร้อมสมบูรณ์

     แท้ที่จริงหลักธรรมของความซื่อสัตย์ภักดี และความโอบอ้อมอารีให้อภัย ก็มาจาก "หนึ่ง" ยามนิ่งสงบก็ฉุดช่วยตน เพื่อคือสู่ความซื่อสัตย์ภักดี ยามเคลื่อนขยับก็ฉุดช่วยผู้คน เพื่อคืนสู่ความโอบอ้อมอารีให้อภัย

     มีอยู่ครั้งหนึ่ง ปราชญ์จื่อก้งเคยเีรียนถามบรมครูขงจื่อว่า..."มีคำพูดใดบ้างที่สามารถนำมาใช้ดำเนินได้ตลอดชีวิตหรือไม่?" บรมครูขงจื่อตอบว่า "น่าจะเป็น ความซื่อสัตย์ภักดีกระมัง! สิ่งที่ตนไม่ต้องการ ก็อย่าเอาไปให้คนอื่น"

     จึงกล่าวว่า "แผนภูมิเซียนกว้าให้คัมภีร์อี้จิงล้วนเป็นมงคลทั้งสิ้น คำว่าโอบอ้อมอารีให้อภัย สามารถนำไปใช้ได้ตลอดชีวิต" นี่คือแนวทางที่จะฟื้นฟูคืนสู่จิตเดิมแท้

...............................................................................................................................................................................................

ย้อนอ่านบทความก่อนหน้า "ธรรมแห่งเรานั้นอาศัยหนึ่งแจ้งแทงตลอด - บรมครูจอมปราชญ์ขงจื่อ"



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น