วันเสาร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ธรรมแห่งเรานั้นอาศัยหนึ่งแจ้งแทงตลอด - บรมครูจอมปราชญ์ขงจื่อ




ธรรมแห่งเรานั้นอาศัยหนึ่งแจ้งแทงตลอด - บรมครูจอมปราชญ์ขงจื่อ


     มีอยู่วันหนึ่ง บรมครูขงจื่อแสดงปริศนาธรรมกับปราชญ์เจิงจื่อและเหล่าสานุศิษย์ โดยกล่าวว่า "เซินเอ๋ย! ธรรมะแห่งเรานั้นอาศัยหนึ่งแจ้งแทงตลอด" ปราชญ์เจิงจื่อตอบทันทีว่า "ครับ ! "
     จากนั้นบรมครูขงจื่อก็เดินออกไป ทำให้ศิษย์คนอื่นๆเกิดความฉงนสนเท่ห์ จึงถามด้วยความสงสัยว่า "ที่อาจารย์พูดนั้นหมายความว่าอะไรหรือ?" ปราชญ์เจิงจื่อตอบว่า "หลักธรรมของอาจารย์นั้น มีเพียงความซื่อสัตย์ภักดีและความโอบอ้อมอารีให้อภัยเท่านั้นเอง !"

     การแสดงปริศนาธรรมนี้ทำให้คนมากมายไม่อาจเข้าใจได้ คนรุ่นหลังจึงกล่าวกันว่าในยามนั้นปราชญ์เจิงจื่อตอบเพียง "ครับ" จึงทำให้ชาวโลกมากมายเกิดความเข้าใจผิด เหตุใดปราชญ์เจิงจื่อจึงไม่กล่าวอย่างชัดเจน? ในคำว่า "ครับ" นี้ แท้จริงแล้วปราชญ์เจิงจื่อได้รู้แจ้งสิ่งใด? ใช่หรือไม่ว่าเป็นเพราะ "ในท่ามกลางนั้นแฝงความนัยอยู่ อยากจะกล่าวแต่มิรู้ว่าจะพูดอย่างไร?"
     เหมือนกับในวัชรสูตรที่ท่านสุภูติกล่าวว่า "สาธุ ! พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์มีความปรารถนาและยินดีเป็นยิ่งนัก ที่จะขอสดับคำชี้แนะจากพระองค์" แท้จริงแล้วก็คือ "ความรู้แจ้งในสิ่งเีดียวกัน" การสื่อจิตประทับจิตเช่นนี้ หากมิใช่ผู้กระจ่างจิตแจ้งธรรมญาณก็ไม่อาจเข้าถึงได้
     มิน่าเล่าบรมครูขงจื่อจึงบอกกับปราชญ์เอี๋ยนหุยผู้เป็นศิษย์เอกว่า "หากมีคนเรียกใช้เรา เราก็ไปปฏิบัติหน้าที่ หากไม่มีก็บำเพ็ญตน ผู้ที่ทำได้เช่นนี้ มีเพียงอาจารย์กัับเจ้าเท่านั้นที่ทำได้" (ขยายความได้อีกว่า ยามปฏิบัติงานใดๆก็ดำเนินตามจิตญาณนี้ ยามว่างก็สำรวมจิตไว้ ผู้ที่รู้วิถีจิตนี้มีเพียงอาจารย์กับเจ้าเท่าันั้น) ปราชญ์จื่อลู่แม้ว่าจะเป็นศิษย์ของบรมครูขงจื่อ แต่ก็ยังเข้าไม่ถึงแก่นธรรม จึงไม่อาจเข้าใจคำพูดนั้นๆได้เช่นกัน

     บรมครูขงจื่อถามปราชญ์จื่อก้งว่า "เจ้าคิดว่าอาจารย์ได้ศึกษาเรียนรู้อย่างกว้างขวาง แล้วจดจำได้หมดใช่ไหม?" เพราะปราชญ์จื่อก้งยังยิดติดกับการรู้การเห็น จึงตอบไปว่า "ใช่ครับ ! มิใช่อย่างนั้นหรอกหรือ ?" แท้จริงแล้วในจิตใจยังลังเลสงสัยอยู่
     บรมครูขงจื่ออธิบายว่า "ไม่ใช่หรอก ! ธรรมแห่งเรานั้นอาศัยหนึ่งแจ้งแทงตลอด" แต่ทว่าปราชญ์จื่อก้งจะเข้าใจอย่างแท้จริงหรือไม่? ปราชญ์จื่อก้งเคยกว่าวว่า "วิชาความรู้ของบรมครูขงจื่อนั้น รับและสดับได้ แต่วิถีจิตและหลักธรรมฟ้าที่บรมครูขงจื่อกล่าวถึงนั้น มิอาจรับและสดับได้" จะเห็นได้ว่า "วิถีจิตและหลักธรรมฟ้า" ตั้งแต่อดีตนั้นยากที่จะสดับและเข้าใจได้ แม้ว่าคนมากมายได้พบพานแต่ก็ไม่อาจกระจ่างแจ้งได้ เหมือนกับบทกลอนของท่านหันซี่ที่กล่าวไว้ว่า "ไม่รู็จักแก้ววิเศษอันล้ำค่าของจิตตน ก็ไม่ต่างอะไรกับปล่อยให้ลาบอดเดินไปเองอย่างไร้จุดหมาย" ก็จะใช้ชีวิตอย่างยุ่ง บอด เคว้ง นั่นมิใช่เรื่องที่น่าเสียดายหรอกหรือ ?

     มีบางคนแม้จะบำเพ็ญพุทธธรรม แต่กลับไม่ยอมแสวงหาธรรมวิถีแห่งการหลุดพ้นจากพระวิสุทธิอาจารย์ มุ่งบำเพ็ญแต่ยานระดับล่าง นั่นก็ไม่ต่างอะไรกับ "เข้าไปนับเม็ดทรายในทะเล มีแต่ทำให้ตนเองเหนื่อยเปล่า"
     ในเจิ้งเต้าเกอ (บทสดุดีของการประจักษ์แจ้งธรรม) ของพระเถระหย่งเจียกล่าวไว้ว่า "มุ่งตรงสู่รากต้นกำเนิดที่พุทธะประทับให้ หากเสาะแสวงหาตามกิ่งก้านใบนั้นมิอาจพบได้" เพราะว่า "การแสวงหาพุทธธรรมโดยห่างจากจิต จักเข้าสู่ทางผิดเพี้ยน" แล้วเหตุใดจึงต้องไปทุ่มเทผิดทาง ต่อให้บำเพ็ญจนแก่ตายก็ไม่อาจสำเร็จได้ นี่ไม่ใช่เป็นเรื่องที่น่าเสียดายหรอกหรือ ?

     คำพูดที่ว่า "เซินเอ๋ย" ที่บรมครูเรียกนั้น คนทั่วไปอ่านแล้วกลับไม่รู้ว่า คำพูดนี้มีประโยชน์เหมือนดั่งการปลุกจิตให้ตื่น ทำให้ปราชญ์เจิงจื่อสำรวมจิตตั้งใจฟัง นี่ก็เฉกเช่นเดียวกับในอดีตที่พระเถระอู๋เย่ถามพระเถระหม่าจู่ว่า "อะไรคือวิถีจิตที่พระบรรจารย์รับสืบทอดกันอย่างลับๆ จากชมพูทวีป" พระเถระหม่าจู่ตอบว่า "เอาไว้ค่อยถาม !" พระเถระอู๋เย่กำลังเดินออกไป พระเถระหม่าจู่ก็ตะโกนเรียก "พระคุณเจ้า" เมื่อพระเถระอู๋เย่ได้ยินก็หันหลังกลับมา พระเถระหม่าจู่ถามต่อว่า "คืออะไร?" พระเถระอู๋เย่ก็ตื่นแจ้งในทันที

     คำพูดที่บรมครูขงจื่อกล่าวว่า "ธรรมแห่งเรานั้นอาศัยหนึ่งแจ้งแทงตลอด" ปราชญ์เจิงจื่อก็กระจ่างแจ้งความนัยทันที แต่ทว่า "หนึ่ง" นั้นคืออะไร? หนึ่งนั้นไม่สามารถคาดคิดถึงได้ ไม่อาจแบ่งออกได้ หากฝืนอธิบายก็อยู่เพียงแค่การรู้การเห็นเท่านั้น แต่ในการที่ไม่อาจอธิบายหรือกล่าวได้นั้น ก็ฝืนเรียกไปว่าจิตเดิม แต่ทว่า "ไม่กระจ่างแจ้งจิตเดิม ศึกษาธรรมวิถีใดก็ไร้ประโยชน์"
     ท่านเหลาจื่อกล่าวไว้ในคัมภีร์เต้าเต๋อจิงว่า "นับตั้งแต่โบราณกาลมา มหาธรรมนั้นบริสุทธิ์ไร้การปรุงแต่ง มีเพียงหนึ่งเดียว ดังนั้นธรรมะจึงเรียกได้อีกว่า "หนึ่ง" และก็คือจิตญาณของคนเรา

เมื่อฟ้าได้ัรับ "หนึ่ง" ก็จะสว่างไสวเรืองรอง
เมื่อแผ่นดินได้รับ "หนึ่ง" ก็จะนิ่งสงบ
เมื่อเทพเทวาได้รับ "หนึ่ง" ก็จะศักดิ์สิทธิ์
เมื่อคนได้รับ "หนึ่ง" ก็จะวิสุทธิ์สงบกระจ่างแจ้งธรรม
เมื่อหุบเขาได้รับ "หนึ่ง" ก็จะอุดมสมบูรณ์
เมื่อสรรพสิ่งได้รับ "หนึ่ง" ก็จะก่อเกิดและเติบโต
เมื่อกษัตริย์ได้ัรับ "หนึ่ง" ก็จะเที่ยงตรง บ้านเมืองมั่นคงสุขสงบ

     ฟ้าดินและสรรพสิ่งทั้งปวงก่อเกิดจนสมบูรณ์ได้ก็ด้วย "หนึ่ง" ความสำคัญของการได้รับ "หนึ่ง" นั้น เห็นได้จากที่กล่าวมานี้ ปราชญ์เอี๋ยนหุยคือ "พระอริยะที่เมื่อได้ัรับ หนึ่ง ก็กระจ่างทั้งหมดทั้งมวลได้"

     หลังจากที่ปราชญ์เจิงจื่อได้กระจ่างแจ้งความนัยแล้ว ก็ตอบคำถามของศิษย์ีพี่ศิษย์น้องทั้งหลายว่า "หลักธรรมของอาจารย์มีเพียงความซื่อสัตย์ภักดี และความโอบอ้อมอารีให้อภัยเท่านั้นเอง !"
     แต่ในคัมภีร์จง-หยง(คัมภีร์ทางสายกลาง)กลับกล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า "เมื่อมีความซื่อสัตย์ภักดีและโอบอ้อมอารีให้อภัย นั่นก็ห่างจากธรรมไม่ไกลแล้ว !" จะเห็นได้ว่าความซื่อสัตย์ภักดีและความโอบอ้อมอารีให้อภัยนั้นมิใช่สภาวะเดิมแห่งธรรม แต่ก็ใกล้กับธรรมแล้ว

..........................................................................................................................................................................................

(บทความต่อไป)...อะไรเรียกว่าหลักธรรมของความซื่อสัตย์ภักดีและโอบอ้อมอารีให้อภัย


2 ความคิดเห็น:

  1. เหตุการณ์ที่ท่านขงจื่อ พูดกับเหล่าศานุศิษย์แล้วมีท่านเจิงจื่อตอบท่านเดียว ถ้าจะนำมาเทียบกับเหตุการณ์สำคัญในพุทธศาสนา น่าจะเทียบได้กับตอนที่พระพุทธองค์ ชูดอกบัว แล้วพระมหากัสสปะ ยิ้มรับ เพราะพระมหากัสปป กับท่านเจิงจื่อคือผู้ที่ได้เป็นผู้สืบทอดพงศาธรรม

    ตอบลบ