วันเสาร์ที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ธรรมะก็อยู่ในตัวเจ้า แต่เจ้ากลับไม่รู้สึกว่ามันดำรงอยู่ ศิษย์เอ๋ยต้องตื่นได้แล้ว! - พระโอวาทสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พระพุทธจี้กง เมตตา


พระโอวาทสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พระพุทธจี้กง เมตตา

     "กุย หลิง"(ภาษาจีน) แปลว่า คืนสู่ศูนย์ ศูนย์คือสุญตาภาวะ ทุกคนกำมือขึ้นมา นี่ก็คือศูนย์ หากว่าเจ้าคงสุญตภาวะไว้อย่างนี้ตลอดไป ขอถามหน่อยว่ามือคู่นี้ยังมีประโยชน์ไหม? สามารถหยิบจับสิ่งของได้ไหม?  ทำงานได้ไหม? ศูนย์นี้เปรียบเสมือนกับแก่น เป็นรากฐาน

     วันนี้อาจารย์จะสลายศูนย์ของพวกเจ้า และให้ "หนึ่ง" กับพวกเจ้า แบมือออกมานี่เรียกว่าแก่นและประโยชน์ กำมือเอาไว้ไม่มีประโยชน์ ดังนั้นศูนย์ต้องเปลี่ยนใหม่กลายเป็น "จื้อ อี" แปลว่า สู่หนึ่ง

     หนึ่งก็คือธรรมะ ศูนย์กับหนึ่งก็คืออินกับหยัง ว่างกับเต็ม ดำกับขาว อินหยังก็คือธรรมะ ไม่มีอินก็เหมือนกับมีแต่แก่นไม่มีประโยชน์จะไปดำเนินจริงได้อย่างไร?  คืนสู่ศูนย์ ไม่ใช่ว่าจมดิ่งนิ่งเงียบไม่ขยับ สลายศูนย์ตัวนี้จึงสามารถไปถึงหนึ่งได้ "หนึ่ง" มีเคลื่อนขยับมีนิ่งสงบ สัญลักษณ์ปิดเปิดก็มีหนึ่งกับศูนย์รวมอยู่ด้วยกันใช่ไหม? จะสลายหนึ่งก็ต้องมีเปิดมีปิด นี่ก็คือธรรมะ

     ธรรมะก็อยู่ในตัวเจ้า แต่เจ้ากลับไม่รู้สึกว่ามันดำรงอยู่ ศิษย์เอ๋ยต้องตื่นได้แล้ว! ธรรมะอยู่ข้างกายพวกเจ้าตลอดเวลา "กุย หลิง - คืนสู่ศูนย์" นั่นเป็นชั้นแรก แต่ชั้นสุดท้ายนี้คือ "จื้อ อี - ไปสู่หนึ่ง"

     "หนึ่ง" นั้นมีว่างมีเต็ม มีแจ้งมีลับ มีก้าวมีถอย มีรุกมีตั้งมั่น หากรู้จักที่จะ "คืนสู่ศูนย์" รู้จักที่จะ "ไปสู่หนึ่ง" อยู่บนหนทางการบำเพ็ญปฏิบัติธรรม ไม่ต้องห่วงหรอกว่าจะมีเรื่องใดที่แก้ไขไม่ได้

     ในใจของศิษย์เวลานี้ก็ต้องมีการ "คืนสู่ศูนย์" และ "ไปสู่หนึ่ง" การคือสู่ศูนย์นั่นก็คือแก่นของเจ้า การไปสู่หนึ่งคือประโยชน์ของเจ้า ประโยชน์นั้นเป็นการเคลื่อนขยับ แก่นนั้นคือสภาวะนิ่งสงบ ยามสงบนิ่งนั้นบำเพ็ญตน ยามเคลื่อนขยับนั้นโปรดฉุดช่วยคน ทุกขณะเวลาเข้าใจความสามารถที่จะพาตนไปสู่หนึ่ง ถ้าประคองรักษาแต่ศูนย์ตลอดไปเหมือนกับกำมืออยู่ตลอดเวลา ก็จะกลายเป็นมือพิการ ดังนั้นจะต้องเคลื่อนขยับ สลายหนึ่งไป

     เขาบอกกันว่าเหล็กที่สามารถเอาเข้าหลอมใหม่ได้นั้นเป็นเหล็กที่ดี บุคลากรก็เช่นกัน หากไม่สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์อีก ไม่อาจกลึงเจียได้อีก ก็ไม่ต่างอะไรกับเศษเหล็ก ไม่อาจนำเข้าเตาหลอมอีก จะสลักเสลาหล่อหลอมความมุ่งมั่นอันแกร่งกล้าของศิษย์ได้อย่างไร?

     เขาสาธิตบรรยายได้อย่างยอดเยี่ยม วิ่งแข่งชนะที่หนึ่ง พวกเจ้าก็ปรบมือให้ แต่การวิ่งแข่งมาราธอน คนสุดท้ายที่ถึงเส้นชัย ทุกคนก็จะปรบมือให้กับเขา เสียงปรบมือนั้นไม่แน่เสมอไปว่าจะให้กับคนที่เก่งที่สุดแต่เป็นการให้กำลังใจ ศิษย์ต้องรู้จักใช้เสียงปรบมือให้เป็นประโยชน์นอกจากให้กับคนที่เก่งที่สุดแล้ว ยังต้องให้กับผู้ที่อ่อนแอที่สุด และไร้ความสามารถที่สุดได้ ปรบมือให้กำลังใจให้เหมาะกับโอกาส นั่นเป็นการให้กำลังใจและสนับสนุนเขามากที่สุด ศิษย์อย่าพูดว่าตนเองไม่เป็นเทียบกับคนอื่นไม่ได้ ตัวเองบำเพ็ญธรรมบำเพ็ญได้แย่มาก ต้องรู้จักให้เสียงปรบมือกับตัวเอง

     ความหมายของ "หนึ่ง" นั้นลึกล้ำแยบยลมาก ไม่มีหนึ่งก็ไม่ได้ฟ้าและคนร่วมคุณธรรม คน ( 人 เหยิน ) ได้รับหนึ่ง ( 一 อี ) จึงใหญ่ ( 大 ต้า )

     การสละที่ยิ่งใหญ่จึงจะมีผลประโยชน์อันยิ่งใหญ่ มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จึงจะมีความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ ผู้เป็นมหาบุรุษนั้นจะไม่สูญสิ้นจิตบริสุทธิ์ คำว่า " 大 ต้า " (ยิ่งใหญ่) ได้รับ 一 อี (หนึ่ง) ก็คือ " 天 เทียน" (ฟ้า) ดังนั้นคนจึงจะประสานกับฟ้า หาก "人 เหยิน"(คน) ขาด 一 อี (หนึ่ง) ก็ไม่อาจเป็น " 大 ต้า " (ใหญ่) ได้  ใหญ่นั้นจะต้องมีความสามารถอันยิ่งใหญ่ มีผลสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ แน่นอนก็ต้องมีการสร้างสรรค์ที่ยิ่งใหญ่

     สร้างสรรค์เนื้อนาจิตของเจ้าผืนนั้นแปรโลกโลกียะนี้ให้เป็นแดนดอกบัวบาน นี่ก็คือความมุ่งมั่นของศิษย์ ศิษย์ต้องเห็นความสำคัญในตนเอง สำรวมตนถนอมตน คนอื่นเขาจึงจะให้ความสำัคัญกับเจ้า ในยามที่คนอื่นเขาให้ร้ายปรักปรำตำหนิเจ้าต้องรีบตรวจตราในส่วนที่ตนเองบกพร่องทันที ต้องมีปรีชาญาณและสัญชาตญาณจึงจะไม่สูญเสียจิตเดิมแท้ไป"





วันเสาร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

อนุตตรสัทธรรม 天 理 一 貫





ในคัมภีร์เต้าเต๋อจิง 道德經 ของท่านปราชญ์เหลาจื่อจารึกไว้ว่า : 

                                                                                  “ธรรมะอันกล่าวขานได้      มิใช่ธรรมะแท้ 
                                                                       นามอันเรียกขานได้                       มิใช่นามแท้ 
                                                                       ที่สุดของความว่างคือจุดเริ่มต้นของฟ้าดิน 
                                                                       ชาติภพคือต้นกำเนิดของสรรพสิ่ง”

ท่านปราชญ์จวงจื้อก็กล่าวไว้ในบทต้าจงซือเพียนว่า : 
     “อันว่าธรรมะนั้น มีสัมพันธภาพ มีสัจจะภาวะอันเที่ยงแท้ แต่ปราศจากรูปลักษณ์การกำหนดหมายถ่ายทอด มอบให้ได้ แต่มิอาจรับมอบได้ ได้รับไว้ แต่มองดูไม่เห็น เป็นกำเนิดเดิมที เป็นรากฐานเดิมที”

         ก่อนมีฟ้าดินนี้ ธรรมะคงอยู่แล้วก่อนกาลนาน ที่สุดของความลึกล้ำแยบยลทรงไว้ซึ่งมหิทธานุภาพนั้น ก่อกำเนิดฟ้า ก่อกำเนิดแผ่นดิน ภาวะนี้นั้นเหนือกว่าชั้นบรรยากาศแต่มิใช่ด้วยสูง ภาวะนั้นต่ำกว่าชั้นนรกานต์แต่มิใช่ด้วยลึก ภาวะนั้นมีอยู่ก่อนฟ้าดินแต่มิใช่ด้วยยาวนาน จำเริญกาลคงอยู่มาแต่มิใช่ด้วยแก่ชรา

ในคัมภีร์วิสุทธิสูตร 清靜經 ชิงจิ้งจิง จารึกไว่ว่า  :  
     “ธรรมะปราศจากรูปลักษณ์ ก่อเกิดฟ้าดิน ธรรมะปราศจากเยื่อใย เคลื่อนโคจรตะวันเดือน ธรรมะปราศจากนาม ก่อเกิดอุ้มชูสรรพสิ่ง เรามิรู้ชื่อของสิ่งนั้น จำต้องกำหนดชื่อให้ว่า “เต๋า  道 ธรรมะ”

ในคัมภีร์ธรรมของพระบรรพจารย์หลัว สมัยราชวงศ์หมิงในบทอู่ปู้สิ่วเช่อ จารึกไว้ว่า  :   
“เบื้องบน ที่สุดแห่งความว่างเปล่าให้กำเนิดฟ้าและดิน ปกครองฟ้าดินไว้ให้เลี้ยงดูสรรพสิ่ง...”

แสงญาณในตัวตนของสรรพชีวิตกำเนิดจากเบื่องบน ภาวะนั้นเป็นที่สุดแห่งความว่าง
ที่สุดของความว่างนั้นเองที่ก่อเกิดความเป็นฟ้า ก่อเกิดความเป็นแผ่นดิน ก่อเกิดรากฐานของคน

จากความเป็นมาเป็นไปของหลักสัจธรรมนี้เราจึงรู้ได้ว่า :
ธรรมะ   คือที่สุดแห่งความว่างเปล่า
ธรรมะ   ปกครองมหาจักรวาล เป็นรากฐานต้นกำเนิดก่อเกิดฟ้าดิน สรรพสิ่ง
ธรรมะ   คือตัวแท้ของจิตญาณ

ธรรมะเมื่ออยู่กับฟ้า เรียกว่า หลี่ 理 สัจธรรม เมื่อโปรดประทานไว้ในคนแล้วเรียกว่า ซิ่ง 性 จิตญาณ

ในคัมภีร์จง อ-ยง 中庸 จารึกไว้ว่า : 
“ชีวิตจากฟ้าเรียกว่า จิตญาณ ภาวะตัวแท้ที่ปกครองนำพาจิตญาณเรียกว่า ธรรมะ” 

ท่านปราชญ์ จูซี แห่งราชวงศ์ซ่งกล่าวไว้ว่า : 
“ก่อนมีฟ้าดินนี้ มีแต่หลักสัจธรรม(สัจภาวะ) ด้วยเหตุที่มีหลักสัจธรรมจึงเกิดมีฟ้าดิน”
กล่าวอีกว่า :  “หลักสัจธรรมคือความเป็นธรรมะอันอยู่เหนือรูปลักษณ์ เป็นต้นกำเนิดของสรรพสิ่ง คือพลัง (พลังงาน) เป็นกลไกให้แก่สิ่งอันมีรูปลักษณ์ต่อ ๆ มา การเกิดกายสังขารของคนจะต้องเป็นไปตามครรลองของหลักสัจธรรม จิตญาณ พลังสังขาร เมื่อประกอบไว้ด้วยกันตามหลักแห่งฟ้าสัจธรรมอันสมบูรณ์พร้อม จิตญาณจะแสดงคุณของพลังและสังขารให้เห็นได้ชัดเจน”

จิตญาณ คืออนุภาคส่วนแยกตัวของพลังแห่งหลักสัจธรรมอันเป็นตัวหลัก

ในศาสนาปราชญ์เรียกจิตญาณนั้นว่า “หมิงเต๋อ 明德 คุณธรรมสว่าง” เรียกว่า "ชีวิตบริบูรณ์ธรรม" “ชีวิตสว่าง”
ศาสนาพุทธเรียกว่า “เจินหยู หมายถึง คถตา” หรือ “ผูถีซิน หมายถึง โพธิจิต” "จิตพุทธะ"
ศาสนาเต๋าเรียกว่า “เสวียนพิ่นจือเหมิน หมายถึง ทวารมารดาวิเศษ” หรือ “เสวียนเชี่ยว หมายถึง โพรงวิเศษ” “เสวียนกวน  หมายถึง ทวารวิเศษ”
รวมความก็คือ “จิตพุทธะ” ที่รู้ตื่น เบิกบาน แผ่ไพศาล อันเป็นภาวะวิเศษที่มีอยู่ เป็นอยู่อย่างนั้นเองแต่เดิมที

ภาวะนี้แม้จะใช้ภาษานิยามต่างกันไป แต่ความหมายในความเป็นจริงนั้นเป็นหนึ่งเดียวกัน จิตภาวะสัจธรรมคือรากฐานชีวิตของคนเรา เป็นต้นกำเนิดอันยิ่งใหญ่ของชีวิต เมื่อเกิดเป็นมาจากภาวะนั้น เมื่อตาย ก็ควรจะต้องเป็นไปด้วยภาวะนั้นเช่นนั้น เรียกว่าหนทางเดิมของการเกิด-ตาย จากความว่างแล้วเกิดมี จากที่มีอยู่คืนสู่ความว่างดังเดิม

ตั้งแต่โบราณกาลมา หนทางตรงของการเกิด-ตาย หนทางที่จิตญาณจะละทิ้งกายสังขาร ศิษย์ของพระวิสุทธิอาจารย์จะได้รับการถ่ายทอดโดยตรงจากปากสู่จิต ในอนุตตรวิถีก็จะได้รับการถ่ายทอดเฉพาะบุคคล เพราะเป็นการ “ถ่ายทอดสัจธรรมของจิตภาวะ” โดยตรง เรียกว่า (ซิ่งหลี่เจินฉวน)

การถ่ายทอดนี้มิโปรดแพร่งพรายโดยง่าย อันเป็นการถ่ายทอดหลักสัจธรรม ถ่ายทอดแก่นแท้สูงสุดของศาสนาหลักใหญ่

การถ่ายทอดแก่นแท้โดยตรงนี้ ศาสนาปราชญ์เรียกว่า “อี๋ก้วน 一貫 รู้แจ้งแทงตลอด”
เรียกว่า “เทียนเต้า  วิถีแห่งฟ้า หรือ ธรรมะแห่งฟ้า อนุตตรวิถี”
ศาสนาพุทธเรียกว่า “เจิ้งฝ่าเอี่ยนฉัง หมายถึง สัทธรรมอันแฝงไว้ในจักษุครรภ์”
ศาสนาเต๋าเรียกว่า “จินตันต้าเต้า หมายถึง มหาวิถีของธรรมญาณดวงแก้ววิเศษ”

มหาวิถีอนุตตรธรรม ผู้ใดได้รับ บรรลุได้ พ้นเวียนว่ายเกิดตายได้

"อี๋ก้วนเต้า 一 貫 道 วิถีอนุตตรธรรม"

อี๋ 一 แปลว่า หนึ่งเดียว เอกเอกะ
ก้วน 貫 แปลว่า ซอกซอนชอนผ่านอยู่ในทุกสภาวะ บริบูรณ์ ถึงที่สุด สืบเนื่องเรื่อยไป ฯลฯ
เต้า  道  แปลว่า ธรรมะ อนุตตรภาวะ ตัวแท้ของจิตญาณ วิถี มรรค ฯลฯ

อี้ก้วนเต้า 一 貫 道 จึงแปลได้โดยสังเขปว่า เอกอนุตตรมรรค เอกธรรมมรรค เอกอนุตตรวิถี
ความเป็นหนึ่งเดียวอันอาจรู้แจ้งแทงตลอด
แปลว่าธรรมปฏิเวธ คือเมื่อรู้ความเป็นหนึ่งจึงเข้าถึงหนทางแห่งการบรรลุได้ ได้ความเป็นหนึ่ง ปัญญาจึงสืบเนื่องเรื่อยไป ฯลฯ



วันศุกร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2555

"ธรรมะ"....หลักสัจจอนุตตรธรรม


ท่ามกลางฟ้าดิน การทุกอย่างล้วนมีหลัก มีเหตุมีผล

สรรพสิ่ง ล้วนมีแนวทางครรลองของสัจจธรรมที่เป็นกฎเกณฑ์ โดยเฉพาะชีพจรการสืบสายของวิถีธรรม ย่อมจะต้องมีเกณฑ์กำหนดของธรรมชาติ ควบคุมให้คงอยู่ หรือสูญสิ้นไปในจักรวาล

"ธรรมะ" ไร้รูปลักษณ์ แต่ก่อนเกิดอุ้มชูฟ้าดิน

"ธรรมะ" ปราศจากเยื่อใยสัมพันธ์ แต่เคลื่อนโคจรตะวันเดือน

"ธรรมะ" ปราศจากนามรูป แต่ก่อเกิดฟูมฟักสรรพสิ่ง สรรพชีวิต เรามิรู้นามเรียกของสิ่งนั้น จึงจำใจให้ชื่อว่า "ธรรมะ"

"ธรรมะ" คือ หลักของฟ้ามหาจักรวาล เป็นหลักสัจจอนุตตรธรรม

หลักสัจจอนุตตรธรรม คือ ภาวะวิเศษสูงสุด ที่เป็นอยู่ มีอยู่อย่างเที่ยงแท้

เมื่อหลักสัจจอนุตตรธรรม หรือ ภาวะสูงสุด ที่เป็นอยู่ มีอยู่อย่างเที่ยงแท้นั้น ลงมาประจุอยู่ในตัวคน เราเรียกว่า พุทธจิต หรือ จิตเดิมแท้

ดังนั้น ผู้ที่ประพฤติตนด้วยจิตเดิมแท้ จึงได้ชื่อว่า เป็นคนมีธรรมะ

"ชีวิตจริงจากฟ้า เรียกว่า จิตเดิมแท้"

ประคองรักษาจิตเดิมแท้ไว้ได้ เรียกว่า เป็นคนมีธรรมะ

ธรรมะ ไม่มีรูปลักษณ์ กลิ่น เสียง ไม่เกิดขึ้นใหม่ ไม่ดับสูญไป ไม่เพิ่มขึ้น ไม่ลดลง ดูเหมือนเปล่า แต่มิใช่ ดูเหมือนมีอยู่ แต่หามีไม่ มิอาจนิยามคำชี้ชัดได้เลย ได้แต่บอกว่า "มันเป็นอยู่อย่างนั้นเอง"

พระธรรมาจารย์เคยตรัสไว้ว่า....

"ธรรมะ" นั้นมิอาจกล่าวขาน เมื่อแสดงด้วยวาจาจะห่างความเป็นจริง เมื่อเอ่ยปากก็จะผิดไป แต่ทว่าไม่กล่าวขาน "ธรรมะ" จะกระจ่างได้อย่างไร?

พระอริยเจ้าตรัสไว้ว่า.....

"เมื่อฟ้าดินเริ่มก่อเกิด ยังคละเคล้าเหมือนกลุ่มหมอกควัน รวมตัวอยู่อย่างเงียบงัน มีพลังอันเหมือนมิได้ก่อผลอันใดแฝงอยู่ภายในอย่างเต็มเปี่ยมมหาศาล"

พลังนั้น เหมือนว่างเปล่าแต่แยบยลศักดิ์สิทธิ์ยิ่ง พลังเงียบงันนั้น เมื่อเคลื่อนไหว จะแปรสภาพการก่อเกิดได้นับไม่ถ้วนกระบวนทาง !

พลังนั้นเมื่อแผ่ขยาย จะกว้างไกลออกไปโดยรอบ ทั้งทางด้านออก ตก ใต้ เหนือ บน ล่าง แต่เมื่อรวมตัวกันกลับเข้ามา จะเหมือนแฝงเร้น จนไม่อาจเห็นได้ !

ที่สุดของความกว้างใหญ่ที่แผ่ขยายออกไปโดยรอบนั้น คือ ไม่มีอะไรอยู่ภายนอกความใหญ่นั้นได้อีก !

ที่สุดของความเล็กที่แฝงเร้นไว้ คือ ไม่มีสิ่งที่เล็กกว่าแฝงอยู่ภายในได้เลย !

สิ่งศักดิ์สิทธิ์วิเศษสุดนี้ แทรกซอนปรุโปร่งถ้วนทั่วอยู่ในทุกสิ่ง

สิ่งศักดิ์สิทธิ์วิเศษสุดนี้ ยิ่งใหญ่จนสามารถโอบอุ้มฟ้าดินทุกสิ่งไว้ได้ มหิทธานุภาพอันมิอาจประมาณนั้น ครอบคลุมทุกสิ่งอย่าง ให้การก่อเกิดทุกสิ่งอย่าง ได้ประหนึ่งบันดาลให้เป็นไป

พระอริยเจ้าผู้รู้ จึงได้ถวายพระนามต่างๆในความหมายใกล้เคียงกันว่า "พระผู้สร้าง" "พระผู้เป็นเจ้า" "พระแม่องค์ธรรม" "พระอนุตตรธรรมเจ้า" "พระมหามารดาแห่งหมื่นโลกธาตุ ฯลฯ"

จึงกล่าวได้ว่า...

"ชีวิตจริงของคน คือ ธรรมะ คือ พลังงานวิเศษสุดสวนหนึ่งจาก "พระผู้สร้าง" นั่นเอง

"ชีวิตจริง หรือพลังงานวิเศษสุด ที่ประจุอยู่ในส่วนศีรษะของคน จึงมีมหิทธานุภาพในการคิดค้นสร้างสรรค์ หรือบงการอวัยวะส่วนประกอบต่างๆของร่างกาย ให้ประกอบการได้ไม่จำกัด แต่พลังงานไม่มีตัวตน คนทั่วไปจึงเห็นแต่ความสำคัญของสังขารร่างกาย ไม่เห็นความสำคัญของพลังงานอันเป็นชีวิตจริง

ชีวิตจริงในตัวตนหากยังคงดำรงธรรมานุภาพแต่เดิมทีไว้ได้ เรียกว่า "ธรรมญาณ" หรือ"จิตเดิมแท้".....

หากชีวิตจริง ยังคงดำรงธรรมานุภาพ และพลานุภาพ อันเป็นพลังงานอันวิเศษสุดแต่เดิมทีไว้ได้ ทันทีที่ละทิ้งกายสังขาร พลังงานอันวิเศษสุดนั้น ย่อมกลับคืนไปสู่สภาวะเดิม ณ เบื้องบน ซึ่งเรียกว่า ได้บรรลุธรรม !

การค้นหา "ธรรมญาณ" "จิตเดิมแท้" หรือ "ชีวิตจริง" จึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่งของทุกตัวคน !

อมตะพุทธะจี้กงตรัสไว้ว่า

"ธรรมะ" คือ หลักอันเป็นเหตุเป็นผล แม้ไม่กระจ่างต่อหลักเหตุ-ผล จะบำเพ็ญธรรมะในตนได้อย่างไร? ฉะนั้น หากจะบำเพ็ญ ก่อนอื่น จะต้องกระจ่างในหลักเหตุ-ผล เป็นเบื้องต้นเสียก่อน จากนั้น จึงอาจบำเพ็ญจริงได้.....

จึงอาจกระจ่างในความวิเศษสูงส่ง ฟื้นฟูสภาวะเดิม

จึงอาจก้าวขึ้นฝั่ง จนสิ้นการเวียนว่าย กลับคืนสู่สภาวะวิมุตติสุขได้ตลอดไป.....

"สรรพสิ่ง มีต้นมีปลาย การทุกสิ่ง มีผลจากเหตุ รู้ความเป็น ก่อน หลัง ต้น ปลาย ก็จะใกล้กับธรรมะ"

ธรรมวัจนะนี้ หมายถึง สรรพสิ่ง สรรพชีวิตในมหาจักรวาล ล้วนมีรากฐานอันเป็นเบื้องต้น ไปสู่เบื้องปลาย หากย้อนต้นค้นหาความเป็นมาของชีวิตคนให้ถึงแก่นแท้ได้ ธรรมะในตนก็จะกระจ่างได้

ฉะนั้น บำเพ็ญ"ธรรมะ" จึงจำเป็นจะต้องรู้ว่า "ธรรมะ" คือ อย่างไร ?

เมื่อรู้ต้นกำเนิด รู้รากฐานที่มาของธรรมะ รู้รากฐานของชีวิตจริงจากฟ้า ค้นหาความเป็นมาจนเข้าใจกระจ่างแล้ว จึงจะบังเกิดจิตศรัทธา ก้าวสู่วิถีธรรม มั่นคงอยู่ในวิถีธรรม จึงจะมุ่งหมาบปฏิบัติบำเพ็ญตลอดไป จึงจะบรรลุธรรมได้ในที่สุด......





วันพฤหัสบดีที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2555

ธรรมะ ก่อกำเนิด ฟ้า ดิน - พระโอวาทสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ท่านไท้เสียงเล่ากุง


"ธรรมะ" ก่อกำเนิด ฟ้า-ดิน 

         ความอัศจรรย์ของฟ้า-ดิน นอกจากผู้บรรลุสัทธรรม แล้ว ทั่วๆ ไปก็เพียงรู้ครึ่งๆ กลางๆ คาดเดาตามเหตุผล โชควาสนาที่มี การโปรดสัตว์อันยิ่งใหญ่ ความลี้ลับอัศจรรย์แห่งวิถีโคจรของฟ้า-ดิน จึง ถูก เปิด เผย ใจข้าห่วงใยสรรพสัตว์ ที่ไม่สามารถจดจำหลักการที่จะกลับสู่ความจริง

ดังนั้นจึงขอถือโอกาสนี้เปิด เผยกิจ "ความเป็นมาของฟ้าดิน" ให้แก่ชาวโลก เพี่อผลในการโปรดสัตว์ อันว่า ฟ้าอยู่สูง แผ่นดินอยู่ต่ำ มนุษย์อยู่เบื้องกลาง ทั้งสามสิ่ง สมบูรณ์ก็ก่อเกิดสากลโลก นับตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ ฟ้า-ดิน สุริยัน-จันทรา ยังเป็นเอกภาพ ไม่มิการแบ่งแยก ในขณะนั้นด้วยพลังปราณแท้แต่ปาง ก่อนของจอมปราชญ์ พระพุทธเจ้า พระวิสุทธิเทพ พระมหาจอมมุนี อันนับเป็นจำนวนเป็นโกฏิๆ พระองค์ที่มีปราณอันบริสุทธิต่างพร้อมใจกัน เปล่งรัศมีสุดประมาณหมุนเคลื่อนอวกาศ ท่านเหล่านั้นคือ "พระมหาบุรุษจอมราชัน" ที่สถิตอยู่เบื้องสูงสุด หรือถูกยกย่องว่าเป็น "พระผู้เป็นเจ้า" และเนื่องจากเป็นที่กำเนิดแห่งสรรพสิง จึงขนานอีกพระนาม หนึ่งว่า "บิดาสวรรค์ องค์ธรรมมารดา" เนื่องจากไม่ทราบพระนาม จึงเรียกว่า "ความลี้ลับมหัศจรรย์" เนื่องจากไม่ทราบที่มาจึงเรียกว่า "องค์ปฐม" นั้น คือ ที่มาของ "มหาสัทธรรม" 

เริ่มจากไม่มีชื่อ "เริ่ม" เมื่อได้มีการหมุนเคลื่อนได้ครบรอบวงกลม เอกธาตุลูกแบ่งแยก จึงแปรเป็นไตรวิสุทธิ์ อันได้แก่

พระวรวิสุทธิ์องค์ปฐม พระอุตตรวิสุทธิรัตนญาณ และพระมหาวิสุทธิธรรม 

เมื่อพระทั้งสามองค์ประสานเป็นกายเดียวแล้วก็กลายเป็นองค์สมบูรณ์ จากไตรวิสุทธิ์นี้ แยกออกเป็นรูป วิสุทธิธาตุที่เบา จึงลอยสู่เบื้องบน วาระกาลจี้อ(ชวด) เป็นการเบิกฟ้า กำเนิดดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดวงดาว ธาตุวิเศษสามสิ่งจึงสำเร็จลง จากนั้นพระไตรวิสุทธิ์ก็ได้อวตารเป็น..."ห้าอาวุโส" 

อันมีอาวุโสทั้ง ๕ ...บิดาธาตุไม้อยู่ทางตะวันออก มารดาธาตุทองอยู่ทางตะวันตก อาวุโสธาตุไฟอยู่ทางทิศใต้ อาวุโสธาตุนํ้าอยู่ทางทิศเหนือ และอาวุโสพระธรณีอยู่ศูนย์กลาง 

นั่นคือ "ห้าอาวุโส" เมื่อทั้ง ห้าอาวุโสอยู่ครบ ธาตุที่ขุ่นและหนักก็ตกลงสู่เบึ้องล่าง เมื่อได้วาระกาลทิ้ว (ฉลู) จึงเกิดแผ่นดินขึ้น เมื่อมีฟ้า-ดินแล้ว แต่ไม่มีเผ่าพันธุ์มนุษย์ มหาบุรุษจอมราชัน...จึงทำสมาธิเดินธาตุบริสุทธิ์ให้ทั้งห้าธาตุอาวุโสจัดสร้างมนุษย์

เมื่อจักรวาลสำเร็จลง...แต่ยังไม่มีมนุษย์ ดังนั้นทั้งห้าอาวุโสจึงแบ่งวิญญาณธาตุ ทั้งห้าอาวุโสเมื่อได้รับพระประสงค์แล้วก็ได้ให้ แม่ธาตุทอง กับ บิดาธาตุไม้ จัดแจงให้ธรรมญาณไปเกิด ขณะนั้น ทั้งห้าอาวุโสได้เลือกเขาสิเนรุเป็นศูนย์กลาง เสาะหาถํ้าที่อยู่อาศัย นำเอาดินสิเหลืองปั้น เป็นหม้อต่างครรภ์ ทำฝาครอบกลมๆ ปิดลง และทำที่หนุนทั้งสี่มุมจัดตั้งให้เรียบร้อย บิดาธาตุไม้ได้สกัดเอาโลหะจากหิน ทำเป็นสามขาต่างเป็นขาหยั่งไว้ตั้งกระทะ แม่ธาตุทองเก็บดินห้าสี จากทิศตะวันตกเฉียงใต้ ปั้นเป็นเตารูปจันทร์เสี้ยว มีนํ้าตัดหินผ่านภูผาได้หินงามประหลาด คลุกกับน้ำแล้วกอบไว้ในเตา เอาหม้อดินวางไว้ข้างใน ด้านบนตั้งกระทะทองไว้ เอาแท่นไม้แห้งจากทางใต้ใช้ไฟจริง (พลังจิต) ต้มนํ้านั้น ชัวครู่เดียว ความร้อนได้ขับดันไอ (ธาตุแท้) ออกมา จนกระทั่งสงบจึงหยดธาตุ (โทฮั้ว) ลงสู่ในหม้อ ใต้หม้อยังมีไอ (ธาตุ) เล็ดรอดออกมา ส่วนที่ดูดซับน้ำได้หุ้มธาตุทอง (กิมฮั้ว) มีการยุบๆ พองๆ โดยธรรมชาต ระดับน้ำ ขึ้นๆ ลงๆ ภายในเต็มล้นและอิ่มเอิบ

"ห้าอาวุโส" สามารถล่วงรู้ถึงเหตุการณ์อันสำคัญว่า ส่วนศีรษะแดงได้เชื่อมติดแน่นแล้ว จึงรื้อเตาออก อุ้มหม้อออกมาดู รัศมีเปล่งประกายรอบๆ อยู่ถึงเจ็ดวันจึงหยุดลง ท่านอาวุโส ธาตุดิน ธาตุไฟ และธาตุน้ำ ขึ้นนั่งในที่สูงคอยดูอย่างตั้งใจ (พ่อ)-ธาตุไม้ และ (แม่)-ธาตุทอง จึงก่อเตาขึ้นใหม่นำหม้อขึ้นตั้งบนเตาใหม่ ยามเช้าเกรงว่าจะหนาวจึงสุมเปลวแดดไว้ข้างล่าง ยามเย็นก็เกรงว่าจะแห้งจึงหยดน้ำธาตุ (ไท้อิก) ด้านบน

ทั้งอาวุโสธาตุไม้(พ่อ)และ ธาตุทอง(แม่) ได้อาศัยวิธีหลอมทองให้เป็นรูป(กิมเอ๊กเลี่ยงเฮ้ง) จนกระทั่งคงไว้แต่ญาณ เพื่อเพิ่มพลังจิตให้ลืมความกังวลและความคิดต่างๆ คงสภาพไว้เฉยๆ คอยเพิ่มหรือลดพลังจิตตามจังหวะจนกระทั่งแล้วเสร็จ รอคอยให้ครบกำหนด เมื่อถึงเวลาที่ครบกำหนดแล้ว ปรากฏมีเมฆสีต่างๆ ลอยอยู่เบื้องบน น้ำมนต์ก็ปะพรมลงสู่เขาสิเนรุ ได้ยินเสียงจากในกระทะ ทั้งอาวุโสไม้(พ่อ)และ อาวุโสทอง(แม่)ต่างรู้ว่า ทารกน้อยได้กำเนิดแล้ว เมื่อเปิดฝาบนออกดู จึงเห็นมีของสิ่งหนึ่งกอดรัดอยู่ อาวุโสทองจึงเอามืออุ้มออกมาคนหนึ่ง มองเห็นเป็น...ทารกเพศชาย อาวุโสไม้อุ้มอีกคนหนึ่งขึ้นมา ปรากฏเป็น...ทารกเพศหญิง ทั้งสองยิ้มร่าแล้วกระโดดออกจากกระทะ นึ่คือบรรพชนในอดีต นามว่า มหาบุรุษ (ไท้เฮี้ยง) และวรสตรี (เง็กนึ่ง) อีกนัยหนึ่งคือ...อาดัมกับอีวา ซึ่งเป็นต้นกำเนิดเผ่าพันธุ์มนุษย์ นับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา...

และในขณะที่ ธาตุบริสุทธิ์ทั้งห้าทิศ(อาวุโสทั้งห้า)ให้กำเนิดมนุษย์ ก็มีธาตุที่ไม่บริสุทธิ์ ซึมแผ่ออกมาด้วย คลุมทั่วพื้นพิภพ ทำให้เกิดสัตว์ต่างๆ เช่น พวกสัตว์ปีก พวกพืช และยังมีพวกโลหะ มีแม่น้ำ ทะเล มหาสมุทร ไฟฟ้าในอากาศและหินไฟ รวมทั้งฝุ่นละอองและสัตว์ต่างๆ

คัมภีร์ที่ปั้นดินเสกให้เป็นคน ก็เกิดจากที่นึ่ ร่างกายคนที่แท้ทำจากดิน...ดินให้กำเนิด ก็ต้องอยู่กับดินไปตลอด ดังนั้นเมื่อตายลงขันธ์ก็ต้องคืนสู่ดินอีก การสร้างโลกจึงสำเร็จลง ทารกทั้งชายหญิงจึงจุติจากสวรรค์มาสู่โลก เริ่มแรกมนุษย์ยังมีกายบริสุทธิ์ เมื่อผ่านไปนานวันเข้าเนื่องจากจิตธาตุแท้ธรรมญาณได้เสพสิ่งหลงติดในโลกทั้งในที่สว่าง-ที่มืดมิด (หยิน-หยาง) ผสมผสาน ดังนั้น มนุษย์จึงเกิดแล้วเกิดอีก(เวียนว่ายตายเกิด) ทั้งหมดนี้เริ่มจากที่ไร้ขอบเขต(อู๋จี๋ หรือ บ้อเก๊ก) เกิดการเคลื่อนที่ทำให้เกิดขอบเขตอันไพศาล(ไท่จี๋ หรือ ไท้เก๊ก) ขอบเขตอันไพศาลนี้มีทั้งในที่สว่าง-ที่มืดมีด หยินหยาง (อิม-เอี้ยง) ทำให้เกิดสรรพสิ่ง...เริ่มจากหนึ่ง หนึ่งแพร่กระจายเป็นหมื่นๆ ดังนั้น คำว่า "สรรพสัตว์" จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "วิญญาณ ๙๖ ดวง" หมายความถึง ลักษณะฟ้าเก้าส่วน ดินหกส่วน ครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีที่สิ้นสุด 

ธาตุทั้งห้า(อาวุโสทั้งห้า)ก่อกำเนิดธรรมญาณเดิม แต่ละดวงมีธาตุแท้ ดังนั้น...มนุษย์จึงมีอวัยวะภายในครบทั้งห้า มีธาตุทั้งห้าแข็งแรงล้วนเป็นพระคุณของธาตุทั้งห้า(อาวุโสทั้งห้า) ในโลกนี้มีผิวพรรณต่างๆ กันทั้งห้าสิในทิศทางต่างๆ ทิศตะวันออกสีผิวเขียว ทิศตะวันตกสีผิวขาว ทิศใต้สีผิวแดง ทิศเหนือสีผิวดำ ทิศเบึ้องกลางสีผิวเหลือง ก็เหมือนดินเหนียวที่เผาอยู่ในเตา ความแรงของไฟไม่เท่ากัน ทำให้เกิดแสงสีทั้งห้า 

ธรรมญาณเดิมจุติสู่โลก เริ่มแรกจิตเดิมแท้บริสุทธิ์ มีใบไม้พันกาย จิตจึงเป็นจิตเดิม ไม่คำนึงถึงสิงอื่นใด ดังนั้น พอมนุษย์ตายลงแล้วก็กลับคืนสู่สวรรค์ แต่ทว่าจิตได้หมกมุ่นอยู่ในแผ่นดินนานเข้า ชาติพันธ์และธรรมญาณแปรเปลี่ยน ในสมัยโบราณยุคกลาง ธรรมญาณไม่บริสุทธิ์ เมื่อมนุษย์ตายลงธรรมญาณจึงไม่สามารถกลับคืนสู่นิพพานบ้านเดิม จิตญาณที่มีบาปจึงตกต่ำ ดังนั้นนรกจึงบังเกิดขึ้น 

       ท่านอาวุโสทั้งห้า มีความเสิยใจอย่างยิ่ง จึงได้ร่วมกันปรึกษา เพึ่อวางแผนรับธรรมญาณคืนถิ่นนิพพานบ้านเดิม อาวุโสทั้งห้าจึงจำเป็นต้องจุติลงมายังโลกด้วยตัวท่านเอง แยกกันไปคนละทิศทาง ต่างก็เป็นองค์ศาสดาของห้าศาสนา ( พุทธ คริสต์ อิสลาม เต๋า ปราชญ์) เผยแพร่พระศาสนาให้แก่ธรรมญาณเดิมเพื่อโปรดสัตว์ให้คืนถิ่น แต่ว่า ภายหลังองค์พระศาสดาเสด็จดับขันธ์ลงแล้ว พระสาวก(แต่ละศาสนาซึ่งแท้จริงเป็นธาตุแท้ธรรมญาณเดิมมาจากที่เดียวกัน)ก็ได้หลีกไกลจาก พระสูตรทำให้ผิด(ต่อ)ธรรมะ ทำให้ธรรมญาณเดิมอยู่ห่างไกลจากธรรมะ เกิดการกล่าวร้ายซึ่งกันและกัน กระทำสิ่งที่ผิดศีลผิดธรรม กระทบกระเทือนต่อฟ้า-ดิน ท่านอาวุโสพระแม่(ธาตุทอง) เศร้าเสิยใจที่ลูกไม่กลับคืนถิ่น ดังนั้นจึงมีรับสั่งให้นำพระสัทธรรมปกโปรดสู่โลก เพื่อกอบกู้ผู้คน(ธรรมญาณเดิม) สั่งสอน ปลอบเตือนลูกเกเร เพราะต้องการโปรดเวไนยสัตว์อย่างจริงจัง ดังนั้นทั้งสามภพถึงได้ประชุมกัน องค์ประธานทั้งสามภพจึงลงมติให้เปิดเผยสภาพทิวทัศน์ของสวรรค์ เพื่อการชักจูงเหล่าธรรมญาณ ให้กลับคืนสู่สวรรค์ินิพพานอันบรมสุข อันเป็นความตั้งใจของพระแม่(ธาตุทอง) หวังว่าชาวโลกเมื่อได้อ่านแล้ว จะกลับตัวกลับใจเข้าหาพระสัทธรรม จะได้กลับสู่สวรรค์ ธรรมญาณผนึกเข้ากัน กลับคืนสู่ไตรวิสุทธิ์เป็นเอกธาตุอีกครั้ง เสวยสุขนิจนิรันดร์




วันอังคารที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2555

เดิมทีอนุตตรภาวะปราศจากรูปนาม แต่จำต้องกำหนดคำว่า "ธรรมะ"


อันที่จริง อนุตตรภาวะ...ปราศจากรูปนามแต่จำต้องกำหนดคำว่า "ธรรมะ" 

"มรรค" ( มีองค์แปด คือเห็นชอบ ดำริชอบ เจรจาชอบ ทำการชอบ เลี้ยงชีพชอบ เพียรชอบ ระลึกชอบ และสมาธิชอบ ) เดิมทีมิมีข้อวัตร จำต้องจัดองค์ประกอบเพื่อโน้นนำจิต ดังคำกล่าวว่า...

"ขาดความเป็นธรรมะ  เมื่อเป็นวจนะกลางอ้าง 
เมื่อจิตหลุดพ้นพลัน    สงขารก็ว่างเปล่า" 

หมื่นพันธรรมารมณ์จึงเกิดดับด้วย "จิตภาวะ" ฉะนี้ เหตุปัจจัยจึงไม่อาจทำให้จิตภาวะเปลี่ยนไป จิตภาวะจะไม่เปลี่ยน แม้ได้รับเหตุปัจจัย อีกทั้งไม่มัวหมอง จะประภัสสรปราศจากอุปสรรค เป็นสัพพัญญูรู้ธรรมธาตุ ร่วมมหากรุณาหนึ่งสภาวะเดียวกัน บริบูรณ์ งดงาม เป็นมหาเมตตาเหนือเหตุเนื่องนำ ร่วมศักยภาพกับอนุตตรธาดา ( คือพระแม่องค์ธรรม พระผู้สร้าง ฯลฯ )

ฟ้าดิน ก่อกำเนิดสรรพสิ่ง เวียนธรรมจักร เบิกหนทางอมตะ รู้แจ้ง ทั้งนี้ มีบรรพจารย์สืบต่อตามสมัย ศาสดาทั้งห้าสนองบัญชาถ่ายทอดโดยสัตย์จริง

กำหนดการของฟ้าดำเนินมาถึง "เอี๋ยนคัง" เป็นบรรจบกาลที่เจ็ด กำหนดกาลมะเมียคาบเกี่ยวมะแม ความรู้ของผู้คนเบิกบาน อารยธรรมล้ำเลิศ สมบูรณ์พูนสุขที่สุดกับวัตถุอยู่กิน ดังแดนดินบนวิมาน ที่น่าสงสารคือ หลงเปรมปลื้มกับอารมณ์รูปกาย จนจิตใจเคว้งคว้างว่างเปล่า สูญเสีย "จิตภาวะ" อันเลิศล้ำเหนือสามโลกของตน

ดังนั้นมโนธรรมจึงไม่ฟื้นสว่างใส ชีวิตเปลี่ยนไปเป็นมืดดำคร่ำนรก ขาด "คุณธรรม" ซึ่งสำคัญเช่นกระดูกเอ็นที่ค้ำคูณรูปกายให้อยู่ในกรอบ

บัดนี้ ชีวิตจิตญาณจึงเคว้งคว้างขาดหลักอาศัย เหมือนล่องลอยอยู่ในทะเลวิญญาณ ประหนึ่งคนไม่มีหัวใจที่ปล่อยกายไปตามยถากรรม เมื่อหลักธรรมของจิตแฝงต่ำ สัจธรรมก็ยากจะปรากฏ พฤติกรรมย่อมออกนอกลู่ทาง และสร้างบาปเวรแห่งการเวียนว่าย อนิจจา วาสนาหรือทุกข์ภัยมิได้เปิดทาง แต่อยู่ที่ต่างก่อนำกันเอง

ใจฟ้าเมตตา จะหาเหตุเภทภัยให้มนุษย์มีหรือ ความทุกข์ร้อนเภทภัยในโลกขณะนี้ เป็นกรรมหมู่อันเป็นผลจากที่ทุกคนร่วมกันก่อมา น่าเวทนานัก

คัมภีร์มีคำกล่าวว่า... "จิตตนตนฉุดช่วย พุทธะมิอาจช่วย" 

บาปเวรของตน จะต้องแก้ไขลบล้างด้วยตนเอง ปุถุชนคนหลง...ได้แต่พึ่งพาอาศัยสิ่งนอกกาย ไม่รู้จักจิตตน ไม่กระจ่างในจิตภาวะธรรมญาณ ของตนอันเป็นหนึ่งเดียวกันกับอนุตตรธรรมมารดา หวังแต่จะให้พุทธะมาฉุดช่วย แต่ไม่พิจารณาก้มหน้าคราดไถพุทธจิตเนื้อนาตน เช่นนี้ จะมีวันคืนกลับร่วมสมานกับธรรมมารดาได้หรือ 

ในครั้งกระโน้น พระแม่องค์ธรรมได้บัญชาแบ่งห้าศาสดาใหญ่(เต๋า ปราชญ์ พุทธ คริสต์ อิสลาม) ให้สืบสายอริยะ สืบต่อบรรพจารย์แต่ละสมัยในสหาโลก ถ่ายทอดสัจธรรมแทนฟ้าดิน ก่อตั้งศาสนานำพาสาธุชน แต่ละภาคพื้น

ทุกหลักการที่ยึดถือ ก็คือสัจอนุตตรหฤทัยแม่ เป็นสุญตาอันวิเศษ ตามเหตุแห่งบุญวาระอันสมควรสำหรับผู้คนในแต่ละภาคพื้นดินแดน เพื่อง่ายแก่การสื่อความ ชาวโลกจึงจัดทำคัมภีร์หลักศาสนาสืบต่อมา ดั่งบันไดฟ้าพาชาวโลกก้าวขึ้นสัมมาวิถีอันจีรัง

แต่น่าเสียดายที่ใจคนลุ่มหลง น้อยนักจักรู้แจ้งในสัจธรรมความเป็นหนึ่งเดียว จึงต่างแบ่งสถานภาพจับจ้องกัน ปิดกั้นด้วยกำแพงเหล็ก บ้านใครบ้านมัน อีกซ้ำห้ำหั่นทำลายกัน อนิจจา เจ้าล้วนพี่น้องร่วมมารดา สัมพันธ์ดั่งแขนขา แต่กลับเข่นฆ่ากันดังเชื้อไฟ ต้นถั่วต้มถั่วเอง เช่นนี้มีหรือที่พระแม่จะทนได้

พระแม่องค์ธรรมรวดร้าวปวดใจ จึงได้บัญชาพระบุตรศรีอาริย์ จี้กง กวนอิมฯ พร้อมกันสนองพระโองการแบกภาระร่วมเก็บงานสายธรรมนับหมื่นที่แยกย้าย กลับคืนสู่อริยกิจต้นเดิมเดียวกัน

จากนั้นก็บัญชาพระบุตร กวน จาง หลวี่ เอวี้ย ( กวนอู จางเฟย หลวี่ต้งปิน เอวี้ยเฟย ) นำเหล่าเทพเจ้าประจำดวงดาว เป็นแนวหน้าแผ้วถางทางโลก ช่วยเก็บงานในธรรมกาลนี้

ฉะนั้น เมื่อโองการประกาศิตยุคขาวได้ประกาศ ทั้งสามโลกจึงต้องฟังพระบัญชา แสดงบุญญาฯ ชักนำสานุศิษย์ตน ให้ละชั่วบำเพ็ญธรรมเพื่อแปรเปลี่ยนภัยพิบัติ จนถึงสร้างสรรค์แดนสุขาวดีแดนพุทธะ ให้เป็นเอกภาพในโลกมนุษย์

ทุกคาบสมุทรคืนสู่สัจจวิถี ทั้งสี่ทิศและใจกลางต่างคืนสู่ต้นกำเนิดเิดิม

เมื่อถึงเวลานั้น พระบุตรศรีอาริย์จะต้องลงสู่แดนดินบำเพ็ญบรรลุมหาพุทธา และเวียนธรรมจักรภายใต้ต้นโพธิ

นาคะภัทรประทีป "หลงฮว๋า" 
กำหนดต้นจะฉุดช่วย เก้าพันหกร้อยล้านชีวิต 
กำหนดที่สองจะฉุดช่วย เก้าพันสี่ร้อยล้านชีวิต 
และกำหนดที่สาม อีกเก้าพันสองร้อยล้านชีวิต

ให้คนเดิมในวิสุทธิแดนดิน พร้อมกันสดับสัมมาสัมพุทธธรรม พ้นจากเวียนว่าย ตัดขาดจากเหตุปัจจัยในกิเลสกามทั้งปวง บรรลุเหนืออรหัตผลยิ่งขึ้นไป 

นี่คือฟ้าเบิกดิถีหลงฮว๋า อันเป็นเหตุที่มาของการฉุดช่วยพุทธบุตรในธรรมกาลยุคขาวอย่างกว้างขวางครั้งนี้

วันอาทิตย์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2555

รากธรรมเดียวกัน - พระโอวาทสิ่งศักดิ์สิทธิ์


รากธรรมเดียวกัน - พระโอวาทสิ่งศักดิ์สิทธิ์เมตตา

         ฟ้าดินถือกำเนิดจากเอกธาตุ พิภพอันใหญ่ปกครองด้วยสรรพสิ่ง พระศาสดาของห้าศาสนา(พุทธ คริสต์ อิสลาม เต๋า ปราชญ์ )  แม้จะใช้ยานพาหนะที่ต่างกันออกเผยแพร่พระธรรม และบนยานพาหนะ จะมีพระคัมภีร์ จะมีอักษรนับหมื่นตัวก็ตาม ล้วนแล้วแต่สอนให้มนุษย์ เดินทางไปสู่สวรรค์ทั้งหมด แต่มาสมัยนี้ ในพระคัมภีร์จะถูกแก้ไขเรื่อยมา บ้างก็เพิ่มเติมเสริมแต่งความคิดเห็นส่วนตัวลงไป ทำให้พระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ (ลายแทงขุมทรัพย์) เลอะเทอะผิดเพี้ยน ทำให้ผู้แสวงธรรมต้องหลงทางอยู่ในขุนเขา โดยหารู้ไม่ว่าทุกศาสนามีหลักธรรมเหมือน ๆ กัน ซึ่งมุ่งสู่สันติภาพมีความซื่อสัตย์ที่จะสั่งสอนผู้คน เหนี่ยวรั้งความเสื่อมโทรมของสังคม มุ่งสู่ความสันติสุขร่วมกัน

        มนุษย์ควรตระหนักถึงพระมหากรุณาธิคุณของฟ้าเบื้องบนที่มีต่อที่มีชีวิต การเผยแพร่พระศาสนา ก็เพื่อส่งเสริมให้มีความผาสุกและสันติภาพ ต่อมนุษยชาติอย่างเดียวกัน ดังนั้น จึงไม่ควรที่จะดูถูกเหยียดหยาม และกล่าวร้ายกันและกัน สรรพชีวิตที่อยู่กันคนละแห่ง ล้วนมาจากสวรรค์แห่งเดียวกัน ต่างเลี้ยงชีพปกครองโลก พอนานวันเข้า ต่างก็ลืมสวรรค์ถิ่นเดิม บัดนี้ สวรรค์ต้องการให้สรรพชีวิตสำนึกตน นึกถึงบรรพบุรุษสู่ถิ่นฐานเดิม เพื่อให้มนุษย์เข้าใจถึงหลักการเดิมของชีวิต เพื่อกลับสู่สวรรค์ได้ในเร็ว ๆ วัน หากยังไม่สำนึกตน ปฏิบัติธรรมก็รังแต่จะถลำลึกลงไปเรื่อย ๆ วนเวียนอยู่ในวัฏสงสาร มีทุกข์มหันต์ ไม่อาจกลับคืนสู่ถิ่นเดิมได้ !

ธรรมะ...นั้นเป็นไฉน ? - พระโอวาทสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พระพุทธจี้กง


ธรรมะ...นั้นเป็นไฉน ?

เมื่อเจ้าทำดี "ธรรมะ" นั้นก็เป็นธรรมที่เที่ยงแท้ หากจิตใจไม่เที่ยงตรง  กายไม่เที่ยงตรง วาจาไม่เที่ยงตรง การกระทำไม่เที่ยงตรง เช่นนี้ แ้ม้ธรรมแท้ก็อาจกลายเป็นธรรมปลอมไ้ด้

รู้หน้าที่ตน ก็คือ "ธรรมะ"  ปฏิบัติหน้าที่ตนให้ดี นั่นก็คือ "ธรรมะ"

ดำรงตนอยู่ในโลกนี้ ทุกแห่งหนล้วนคือความรู้ ทุกแห่งหนล้วนมี "ธรรมะ" ต้องหมั่นตรวจตราอยู่เสมอ
มิใช่มาสถานธรรมจึงจะมี "ธรรมะ" ถึงจะสามารถปฏิบัติธรรมได้ ชีวิตไม่ว่าดำรงอยู่แห่งหนใดก็ล้วนปฏิบัติธรรมได้เช่นกัน

หลักในการดำเนินชีวิต เมื่อถึงเวลานอนก็ต้องนอน นี่คือ "ธรรมะ" ไม่ใช่ถึงเวลานอนแต่ไม่นอน ไม่ใช่เวลานอนแต่กลับนอน นี่ไม่ใช่ "ธรรมะ"

ขณะที่เจ้าพูดจาทิ่มแทงคนอื่น คนที่ชัดเจนที่สุดก็คือ ตัวเจ้า !  เมื่อนั้นจะยังคงพูดจาเช่นนั้นต่ออีกหรือไม่ นั่นคือการแสดงออกถึงจิตใจดีงามที่มีอยู่ และนั่นก็คือ "ธรรมะ"

ความสูงส่งล้ำค่าแห่ง "ธรรมะ" นั้น อยู่ที่การไม่อาจใช้ภาษาตีความได้นั่นเอง การดำรงตนนั้นก็คือ "ธรรมะ" ธรรมะนั้นแฝงอยู่ในทุกสรรพสิ่งซ่อนเ้ร้นอยู่ในทุกอณู

"ธรรมะ" นั้นล้ำลึก แท้จริงก็อยู่ในชีวิตประจำวันของเจ้า ไยจะต้องไปฝึกฝนวิชาอื่นใดที่พิสดาร พลังลึกลับหรือปาฏิหาริย์หาใช่ธรรมะไม่ ! แต่ "ธรรมะ" เป็นสิ่งที่ธรรมดาสามัญไม่มีพิเศษ แท้จริงก็อยู่รอบกายเจ้า แต่อยู่ที่ตัวเจ้าจะใช้มันหรือไม่เท่านั้นเอง ื

"ธรรมะ" เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วในตัวเจ้า "ธรรมะ" คือหลักธรรมแห่งฟ้า คือจิตที่ดีงาม "ธรรมะ" นั้นง่ายแก่การบำเพ็ญ หากปฏิบัติตามครรลองแห่งฟ้าได้ก็จะบำเพ็ญได้ง่าย หลักธรรมแห่งฟ้า ก็คือ ใจพุทธะ ใจโพธิสัตว์ ใจเมตตากรุณา ใจกว้างให้อภัย ใจจริงบริสุทธิ์

เราทุกคนหากทำสิ่งใดควรมีจุดมุ่งหมาย แต่มิใช่ใจมีแผนการเงื่อนงำ นั้นเป็นสิ่งไม่ดี ควรใช้จิตใจซื่อตรงจริงใจปฏิบัติต่อผู้อื่น ช่วยคลี่คลายปมปัญหาให้แก่ผู้อื่น นั่นจึงจะเป็น "ธรรมะ" !

รักษาเวลาอันมีค่าทุกขณะ ในเวลานั้นเจ้าทำอะไรอยู่ รักษาเวลาช่วงนั้นไว้นั่นก็คือ "ธรรมะ" เช่นเดียวกัน

"ธรรมะ" นั้นอยู่ท่ามกลางสรรพสิ่ง "ธรรมะ" อยู่ในชีวิตประจำวัน ใกล้แค่ตรงหน้าไม่มีที่จะไม่โอบอุ้ม เมื่อต้องการมัน มันก็มี "ธรรมะ" ไม่ต้องการมัน มันก็ไร้ซึ่ง "ธรรมะ"

"ธรรมะ" คือ หนึ่ง 
หนึ่ง ก็คือต้น ต้นใช่หรือไม่ว่าสำคัญมาก เมื่อสำคัญก็ต้องก้าวเดิน หากไม่ก้าว ไหนเลยจะไปถึง

ไม่ว่าเรื่องราวใดก็ตามต้องมีลำดับขั้นตอน มีขั้นตอนจึงมีระเบียบวินัย มีระเบียบวินัยจึงมีเหตุผล มีเหตุผลจึงมี "ธรรมะ" ต้องรู้จักก้าว-ถอย อย่างมีเหตุมีผล นั่นจึงเรียกว่า "ธรรมะ"

วันนี้เรียนรู้มาเท่าไหร่ก็ควรแสดงออกมาเท่านั้นเช่นนี้จึงเรียกว่าปฏิบัติ "ธรรมะ" สิ่งที่รู้ในวันนี้ หากรอเวลาผ่านไปแล้วค่อยกระทำนั่นไม่เรียกว่า "ธรรมะ" ดังนั้น เรียนรู้และขณะเดียวก็นำมาปฏิบัติ จึงเรียกว่า "ธรรมะ"

"ธรรมะ" อยู่ที่ไม่เอ่ยคำพูด
"ธรรมะ" อยู่ที่มีสติทุกขณะ
"ธรรมะ" อยู่ที่พยักหน้า
หากเจ้ายิ้มออกมาสักครั้ง นั่นแหละคือ "ธรรมะ"

การอยู่ร่วมกัน ไม่ว่าเรื่องราวหรือสิ่งต่างๆล้วนมีเหตุปัจจัย ขอเพียงใช้ใจเคารพและจริงใจซึ่งกัน สิ่งเหล่านี้ล้วนคือ "ธรรมะ"  รู้จริงต้องกระทำจริง ปฏิบัติจริงต้องทุ่มเทอย่างจริงจัง นั่นจึงเรียกว่า "ธรรมะ"

อย่าเอาแต่คอยสำรวจผู้อื่น "ธรรมะ" ก็คือ การสำรวจตนเอง และย้อนมองส่องตน รู้จุดบกพร่องของตนเอง รู้จุดผิดพลาดของตนเองนี่จึงเรียกว่า "ธรรมะ"

ทำอย่างไรจึงจะให้ทุกคนกลับมาสู่จิตเดิม ทำอย่างไรให้ทุกคนมีจิตยินดี เบิกบานสำราญใจไม่แบ่งพวกแบ่งฝ่าย "ธรรมะ" ก็อยู่ตรงนี้ ไม่ใช่ต้องคิดแผนการให้มากมาย ในขณะนั้นก็คือ "ธรรมะ"

"ธรรมะ" มิใช่สิ่งแปลกประหลาด พิลึกกึกกือ แต่มันใกล้ชิดกับตัวเราในชีวิตประจำวันมากที่สุดต่างหาก อย่างเช่น ความกตัญญู ความสามัคคี หลักปกครอง ๓ คุณธรรม ๘ สิ่งเหล่านี้ล้วนคือ "ธรรมะ"

( หลักปกครอง ๓ คือ เจ้านายกับลูกน้อง พ่อกับลูก สามีกับภรรยา )
( เบญจธรรม ๕ คือ เมตตาธรรม จริยธรรม มโนธรรม สัตยธรรม ปัญญาธรรม )
( คุณธรรม ๘ คือ กตัญญูกตเวที  พี่น้องปรองดอง จงรักภักดี วาจาสัตย์ มโนธรรม จริยธรรม สุจริตธรรม เกรงกลัวต่อบาป )

เป็นธรรมชาติก็คือ "ธรรมะ" ใช้ให้เหมาะสม ใช้ให้เกิดคุณประโยชน์ นี่ก็คือความอัศจรรย์ ก็คือความแยลยลแล้ว

สองตาสำรวมญาณทวาร ก็คือ "ธรรมะ" ทุกขณะเวลาคือ "ธรรมะ" แม้บำเพ็ญอยู่ในโลกีย์ ทว่าพึงเก็บจิตกลับมาเพื่อให้ตนได้สงบสติอยู่เสมอ

อย่าได้คิดว่าการนั่งเท่านั้นจึงเข้าสู่สมาธิได้ แต่เืมื่อนั่งลงไปแล้วหมื่นพันความคิดเกิดขึ้นไม่หยุด จะกลับกลายเป็นฟุ้งซ่าน

ต้องฝึกเยี่ยงนี้เสมอว่าไม่ใช่ของๆเจ้า อย่าได้โลภไม่ใช่ของๆเจ้า อย่าได้เรียกร้อง เืมื่อได้ทำอย่างเต็มกำลังของเจ้าแล้ว ได้มาเท่าไหร่ก็เท่านั้น

ภาระหน้าที่อันพึงกระทำก็ต้องไปจัดการ และต้องรักษาวินัยเคร่งครัด






วันศุกร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ต่างศาสนาฟ้าเดียวกัน - เพลงพระโอวาทสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ประทานโดยเทพผู้ด้อยปัญญา ซูตงปอ

เพลงพระโอวาทสิ่งศักดิ์สิทธิ์  
ประทานโดยเทพผู้ด้อยปัญญา ซูตงปอ เมตตาประทานกล่อมเกลา

ชื่อเพลงต่างศาสนาฟ้าเดียวกัน
ทำนองเพลงเลือดข้นกว่าน้ำ

วันพุธที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ธรรมะ คือ...? อะไรคือธรรมะ ความหมายอยู่ที่ไหน

ธรรมะ ปราศจากรูปนาม มิใช่ความมี มิใช่ความไม่มี

ความใหญ่ของธรรมะโอบล้อมมหาจักรวาลความเล็กของธรรมะแทรกซอนอยู่ได้ในฝุ่นธุลี

ธรรมะอุ้มชูปรับแปรอินหยาง ทำให้สรรพสิ่งเกิดดับเป็นไป เป็นรากฐานของสรรพสิ่ง

เป็นหลักของมหาจักรวาล ลี้ลับล้ำลึก เหนือความลี้ลับล้ำลึกที่มิอาจกล่าวอ้างจบสิ้นได้ด้วยวาจา มิอาจบรรยายให้จบสิ้นได้ด้วยอักษร มิอาจกำหนดชื่อของภาวะนั้นได้ แต่เพื่อชี้นำมวลเวไนย์ จึงจำใจให้ชื่อว่า "ธรรมะ" ( เต๋า 道 )

ธรรมะคือหลัก สรรพสิ่งล้วนมีหลักสัจธรรมอยู่ในตัว

ฟ้ามีหลักสัจธรรมของฟ้า
แผ่นดิน (โลก) มีหลักสัจธรรมของแผ่นดิน
สรรพสิ่งมีหลักของสรรพสิ่ง
เรื่องราวมีหลักการของเรื่องราว
คนมีหลักการของคน
ยังมีหลักการแพทย์ หลักชะตาชีวิต หลักการปกครองดูแล หลักการบริหาร หลักการศึกษา และหลักต่างๆ

ความเป็น "หลัก" นี้เอง ที่ได้ชื่อว่า "ธรรมะ"

ธรรมะเป็นหนทาง (วิถี)
วิถีทาง ครรลอง เช่นการก่อเกิดสัณฐานโลก เริ่มจากความว่างจนเกิดมี จากมีอยู่กลับคืนไปสู่ความว่างเปล่าดังเดิม เป็นครรลอง เป็นหลักธรรม

ธรรมะมีหลัก มีพลังประจุอยู่เต็มทั่วสิบทิศอนุมานได้เรื่อยไปเหมือนไม่มีที่สิ้นสุด แต่หากเกิดศรัทธาแท้ เพียงแค่กำหนดจิต ก็จะเข้าถึงภาวะของความเป็นธรรมะได้ทันใด

พลังของธรรมะปรกแผ่จากอนุตตรภาวะเบื้องสูงสุด สรรพสิ่งภายในมหาจักรวาลจึงมีพลังของธรรมะประจุอยู่

สรรพสิ่งจึงบังเกิดมีด้วยพลังของธรรมะ

พิจารณาจากอักษรจีนคำว่า ธรรมะ คือ 道
สองจุด หมายถึง อินหยาง
หนึ่งขีดรองรับคือ "หลัก"
อินหยางขึ้นอยู่กับ "หลัก" มีหลักจึงเรียกว่า "ธรรมะ"

ธรรมะที่เราแสวงหากัน แท้จริงคือหลักของชีวิตหลักของความเป็นคน

คน เที่ยวดั้นด้นค้นหาธรรมะนอกตัว

แม้ภาวะและพลังของธรรมะในมหาจักรวาลจะสัมพันธ์กัน แต่ภาวะและพลังในสรรพสิ่งนั้นๆ ย่อมก่อเกิดคุณาประโยชน์แก่สิ่งนั้นเป็นสำคัญ

คน ค้นหาภาวะและพลังของธรรมะภายนอกตัวจึงไม่ตรงต่อเป้าหมาย จึงมิได้รับคุณาประโยชน์จากธรรมะโดยตรง

อักษรจีนตัว "ธรรมะ 道" จึงแสดงให้เห็นว่าพลังอินหยางในมหาจักรวาลที่มีหลักสัจธรรมรองรับนั้นอยู่ในตัวตนของเราเอง คือ "自 จื้อ" และประจุอยู่ในตัวเราคือ "首 โส่ว" ข้างๆรูปอักษรแสดงความเป็น และแสดงตำแหน่งที่สถิตของ "หลักธรรม" ยังมีรูป " 辶 " หมายถึง "พาหนะ" หมายถึง "ยาน" "แนวทาง "ยั่งยืน"

สรุป

ตัวอักษรคำว่า ธรรมะ เต๋า 道 คือหลักสัจธรรมของอินหยางฟ้าดินที่ประจุอยู่บนศรีษะ ณ ตัวตนของทุกคนเอง จึงมิพึงแสวงหาจากภายนอก จึงอาจประคองรักษาด้วย "ยาน" "พาหนะ" จึงพึงดำเนินตามแนวทางแห่งสัจธรรม กลับคืนไปสู่ภาวะยั่งยืน อันเป็น "ธรรมะ" ที่มีภาวะสูงสุด นั่นคือ ภาวะอนุตตรธรรม
(ผู้แปล ขยายความเพิ่มเติม เพื่อง่ายต่อการศึกษาพิจารณาสำหรับผู้ไม่สันทัดภาษาจีน)