วันอาทิตย์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2556

มหาธรรมฟ้าปางก่อน - 關聖帝君慈悲


สามศาสนาหลักเดียวกัน
พระโอวาทกวนเซิ่งตี้จวินเมตตา (关圣帝君)

มหาธรรมฟ้าปางก่อน เป็นสุญตาและศักดิ์สิทธิ์ที่สุด
การผันแปรของจักรวาล มีธรรมเป็นหลัก
จากสุญตาก่อเกิดทวิภาวะ
จนกลายเป็นปากว้า(แผนภูมิปฐพีแปด - โป๊ยก่วย) คือแกนกลางขับเคลื่อนสรรพสิ่ง
พระวจนะแห่งสามศาสนาแฝงด้วยความหมายอันลึกล้ำ
ใครเล่าจะรู้แจ้งปริศนาการสร้างสรรค์อันแยบยล

ดำรงจิตหล่อเลี้ยงธรรมญาณ
ประคองความเป็นกลางหนึ่งแจ้งแทงตลอด
รากฐานของศาสนาปราชญ์
เห็นชาวประชาดั่งพี่น้อง เห็นสรรพสิ่งคือเหล่าเดียวกัน
ส่งเสริมคุณสัมพันธ์ห้า ทำสุดกำลัง เอาใจเขามาใส่ใจเรา
สรรค์สร้างและหล่อเลี้ยงสรรพสิ่งร่วมกับฟ้าดินได้
ศึกษาให้ึถึงแก่นธรรมเข้าถึงธรรมญาณ ฟ้าและคนร่วมสมานกัน
หลักทางสายกลางแต่ไรมาไม่อาจเปลี่ยนแปลง

กระจ่างจิต แจ้งธรรมญาณ
สรรพธรรมคืนสู่ความเป็นหนึ่ง
หลักคำสอนของพระพุทธองค์ จิตว่างไร้อาสวะ
เมตตาปกโปรดมวลเวไนย ขจัดสามใจ สี่ลักษณะ
ชูดอกไม้แสดงปริศนา ณ เขาคิชกูฎ
วัชรสูตรยิ่งนานวันยิ่งจำรัส

บำเพ็ญจิตเคี่ยวกรำธรรมญาณ
สำรวมจิตรักษาความเป็นหนึ่ง
อุดมคติแห่งเหลาจื่อ เมื่อวิสุทธิ์สงบสรรพสิ่งคืนสู่จิตเดิม
ดำเนินอย่างไม่หมายมั่นเจาะจง ร่วมสรรค์สร้างและหล่อเลี้ยงสรรพสิ่ง
การถอยคือการรุกแม้จะแกร่งก็ต้องรู้อ่อนน้อม
อัศจรรย์ดุจมังกรบนฟ้า
เต้าเต๋อจิงกล่าวไว้ ความนิ่งและเคลื่อนไหวแฝงด้วยความแยบยลแห่งธรรมชาติ

พึงเข้าใจให้ถ่องแท้
สามศาสนามาจากต้นกำเนิดเดียวกัน
เหล่าสานุศิษย์ที่ไม่เข้าใจ ต่างแยกตัวตั้งนิกาย
ไม่เทศน์ธรรมซ้ำยังใส่ร้ายกัน ช่างน่าสงสารและเศร้าใจนัก
ทุกศาสนาล้วนมีจุดประสงค์เดียวกัน
แต่กลับเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน ทำให้เกิดความมืดมน

เซียนพุทธะ เทพอริยะ เสียสละตนฉุดช่วยเวไนย
มารทดสอบนานัปการผ่านไปทีละด่าน
แม้ว่าศาสนาจะต่างกันแต่หลักธรรมเดียวกัน
คุณประโยชน์เสมอกันไม่มีใครสูงใครต่ำ
ถกเถียงกันไม่ใช่ว่าจะดี
สงบนิ่งลงแล้วไม่สัมผัสรู้เอง
สร้างกุศลจริงบ่มเพาะคุณธรรมจึงเป็นหลักสำคัญ

น้ำมีต้นธาร ไม้มีรากเหง้า
มนุษย์ผู้เป็นสัตว์ประเสริฐ คือหนึ่งในสามคุณ
จิตใจเวิ้งว้างและเหนื่อยล้า เพื่อกายสังขารจิตลุ่มหลง
เรื่องเกิดตายช่างเลือนลางไร้ที่พึ่ง
แต่ละคนเมื่อใกล้ตายน้ำตาร่วงริน

ในเมื่อกราบวิสุทธิอาจารย์ รับหนึ่งจุดชี้รู้ที่มาที่ไป
ผิดบาปที่ผ่านมา ทีละอย่างๆ ชะล้างสิ้น
บ่มเพาะจิตย้อนมองส่องตน ตั้งอกตั้งใจฉุดช่วยชาวโลก
สามมิเสื่อม คืองานอันแท้จริง
เกริกก้องสะท้านพิภพชั่วนิรันดร์

อันชื่อเสียงลาภยศร่ำรวยสูงศักดิ์ ทั้งต่ำแหน่งอำมาตย์เสนาบดี
จากอดีตกาลจวบจนบัดนี้ ชาวโลกมุ่งไขว่คว้า
แม้ชีวายังยอมทิ้ง โลภเสพสุขกับสิ่งตรงหน้า
เหน็ดเหนื่อยตรากตรำอย่างไร้แก่นสาร
จนสุดท้ายลาภยศชื่อเสียงบรรดาศักดิ์ดั่งควันจางหายไป

เมตตา มโนธรรม จงรักภักดี สัจจะ ใจบุญสุนทาน
มหาบุรุษจากอดีตถึงปัจจุบัน
ต่างยึดถือสิ่งเหล่านี้เป็นหน้าที่ตน
บากบั่นต่อสู้เป็นตายไม่ใส่ใจ
ฉุดช่วยผู้คนทั่วหล้าถือเป็นหน้าที่ตน
ช่างสูงส่งยิ่งแม้ทั้งชีวิตไม่เหลือสิ่งใด
แต่บรรลุสู่อริยะฐานะระบือนามชั่วนิรันดร์

อริยะฐานะกับบรรดาศักดิ์ทางโลก แยกแยะละเอียดชัด
บุญวาสนาทางโลกนั้นแสนสั้นและสูญไปง่าย
บุญวาสนาทางธรรมนี่สิไม่จางหาย
สละสิ่งที่ไม่สำคัญเลือกทำในสิ่งที่สำคัญ
จึงนับได้ว่าเป็นผู้ที่มีวิสัยทัศน์
สุขในธรรมเจริญตามสุภาพชน
ชี้ตรงใจคนพร่ำสอนกล่อมเกลาแปรเปลี่ยนโลกีย์ชน

การที่ได้เป็นสัตว์ประเสริฐ อีกทั้งยังได้เป็นศิษย์พระอาจารย์
ภายนอกดูโง่เขลาแต่แฝงด้วยปัญญา
อยู่อย่างสบายอกสบายใจ
เผชิญต่อการเปลี่ยนแปลงทุกอย่างโดยไม่หวั่นไหว
เลือกทางที่เหมาะแล้วรักษาไว้
ไม่ว่าผองมารผจญจะขอฝ่าฟันมุ่งไป
ปรับแปรตามสภาพจิตหนึ่งใจเดียวเจริญตามพระอาจารย์





วันพฤหัสบดีที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2556

ปราชญ์ พุทธ เต๋า สามศาสนาหลักเดียวกัน พุทธะอริยะถ่ายทอดวิถีจิต

     ท่ามกลางจักรวาลฟ้าดิน มหาธรรมล้ำค่าที่สุด พระอนุตตรธรรมารดา แม่ฯนั้นสูงส่งที่สุด การเปลี่ยนแปลงในการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ เสื่อมลง และดับไปของอนุตตรภาวะ ปฐมภาวะและรูปภาวะนั้น ล้วนก่อเกิดและสรรค์สร้างจากแม่ฯ ไตรภพทศทิศแม่ฯเป็นผู้ควบคุม ไม่ว่าจะเป็นพุทธะอริยะในอนุตตรภูมิ หรือปุถุชนในโลกมนุษย์ล้วนได้รับการบ่มเพาะมาจากต้นกำเนิดดวงญาณเดียวกัน

     พุทธบุตรทั้งหลายต้องรีบเร่งฟื้นฟูจิตญาณอันสว่างไสวของตนเอง เข้าใจสัจธรรม ศึกษาค้นคว้าหลักธรรมฟ้า กระจ่างแจ้งความอัศจรรย์ของจิตญาณที่ไม่เกิดไม่ดับ สภาวะเดิมของธรรมนั้นเป็นความว่าง การสำแดงศักยภาพของธรรมะคือความมี รากฐานของความมีและความว่างคือหนึ่ง ธรรมะก่อเกิดและหล่อเลี้ยงสรรพสิ่ง สภาวะเดิมของสรรพสิ่งที่เกิดขึ้น คือความว่าง รูปนั้นมาจากความว่าง สุดท้ายแล้วรูปคืนสู่ความว่าง แต่ว่าสัจธรรมแห่งอนุตตรภาวะไม่ใช่รูปและไม่ใช่ความว่าง

     นึกถึงยามแรกเริ่มนั้น สภาวะอินและหยังยังไม่ได้แยกออกจากกัน ฟ้าและดินคละเคล้าเป็นเนื้อเดียวกัน เป็นเพียงดวงญาณดวงหนึ่ง ไร้กลิ่นไร้เสียง เป็นอนุตตรภาวะ เมื่ออนุตตรภาวะเคลื่อนขยับ ก็จะสำแดงศักยภาพ โดยสภาวะอินเคลื่อนตัวลงมา สภาวะหยังลอยตัวขึ้นปรากฏเป็นปฐมภาวะ จากการเคลื่อนขยับและนิ่งสงบของสภาวะอินกับหยัง จึงก่อเกิดสามคุณ(ฟ้า ดิน และคน) อีกทั้งแยกออกมากลายเป็นจตุรภาวะ (ไท่หยัง ส้าวหยัง ไท่อิน ส้าวอิน) แล้วกลายเป็นการหมุนเวียนของเบญจธาตุ : ทอง(โลหะ) ไม้ น้ำ ไฟ ดิน
     การหมุนเวียนของสภาวะอินและหยังในหนึ่งเดือน แ่บ่งออกเป็นหกสภาพอากาศ และมีดาวอังคาร ดาวพุธ ดาวพฤหัส ดาวศุกร์ ดาวเสาร์ ดวงจันทร์ ดวงอาิทิตย์ เจ็ดดวงดาวเคลื่อนโคจร อีกทั้งแผนภูมิแปด : เฉียน ต้วย หลี เจิ้น ซวิ่น ขั่น เกิ้น และคุน ต่างทำปฏิกิริยาต่อกัน ก่อให้เกิดเป็นสรรพสิ่ง แผนภูมิแปดเรียงรายอยู่แปดตำแหน่ง ตรงกลางมีปฐมภาวะควบคุมอยู่ รวมเป็นเก้าตำแหน่งทำให้สรรพสิ่งสมดุลกลมกลืน เมื่อสภาวะอินและหยังในปฐมภาวะเคลื่อนขยับก็เกิดการหมุนเวียนของการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ เสื่อมลงและดับไป จากนั้นสรรพสิ่งสรรพสัตว์จึงก่อเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ

   เมื่อกล่าวถึงความอัศจรรย์ของการก่อเกิดและแปรเปลี่ยนในโลกมนุษย์ อีกทั้งการเคลื่อนขยับและนิ่งสงบของความว่างในอนุตตรภูมิ มีสักกี่คนจะเข้าใจกระจ่าง? สัจธรรมแห่งอนุตตรภาวะหรือปฐมญาณเป็นความว่าง มีความวิสุทธิ์สงบที่สุด ไม่ได้รับผลกระทบจากสภาวะอินหยังและเบญจธาตุ ไม่เพิ่มไม่ลด แม้จะไม่มีรูปลักษณ์ให้ได้เห็น แต่ก็มีอยู่จริง

ไม่มีสีใดๆ ไม่มีร้อนไม่มีหนาว อีกทั้งมิได้เคลื่อนขยับหรือนิ่งสงบอยู่ตลอด แต่กลับเป็นต้นกำเนิดในการก่อเกิดและหล่อเลี้ยงสรรพสิ่ง หลักธรรมอันอัศจรรย์ล้วนซ่อนเร้นอยู่ในนี้

    ความอัศจรรย์ของมหาธรรมในสภาวะเดิม และการสำแดงศักยภาพอย่างกว้างขวางหรือละเอียดซ่อนเร้นนั้น ไร้รูปลักษณ์ร่องรอยให้เสาะหาได้ ธรรมะครอบคลุมสรรพสิ่งแต่มองไม่เห็น ฟังไม่ได้ยิน ธรรมะเป็นไปตามธรรมชาติ แต่สนองตอบและหล่อเลี้ยงได้อย่างไม่สิ้นสุด ธรรมะดำเนินโดยไม่หมายมั่นเจาะจง แต่ปรับแปรทุกอย่างได้ ไม่มีเจตนาจะแสดงความสามารถ แต่เสริมสร้างทุกอย่างได้ ธรรมะคือผู้ควบคุมฟ้าดินและสรรพสิ่ง เป็นบ่อเกิดของสรรพสิ่ง สามารถก่อเกิด หล่อเลี้ยง และแทรกซอนอยู่ในสรรพสิ่งทั่วไตรภูมิทศทิศสัจธรรมในอนุตตรภาวะนี้สูงส่งที่สุด อยู่เหนือกามภูมิ รูปภูมิ อรุปภูมิ และสวรรค์เก้าชั้น อีกทั้งลุ่มลึกครอบคลุมไปถึงนรกทั้งสิบขุม

   สัจธรรมแห่งอนุตตรภาวะแทรกซอนไปทั่วทุกที่ ครอบคลุมไปทั่วฟ้าดินและสามภพทำให้สัตว์ปีก สัตว์น้ำ สัตว์บก และพืชต่างดำรงชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม หากสรรพชีวิตไม่ได้อยู่ในหลักสัจธรรมก็มิอาจดำรงชีวิตอยู่ได้

   สัจธรรมที่ควบคุมการโคจรจักรวาลและฟ้าดินนี้ ฝืนให้ชื่อว่า ธรรมะหรือเจินอี (เจินอี เป็นคำกล่าวในศาสนาเต๋า หมายถึง ประคองรักษาจิตเดิมที่บริสุทธิ์ไร้การปรุงแต่ง) ธรรมะเป็นต้นกำเนิดของสรรพสิ่ง เป็นสภาวะเดิมของอนุตตรภาวะที่เป็นนิรันดร์ ธรรมะอยู่ที่ฟ้าฟ้าสดใส การเคลื่อนโคจรเป็นไปตามธรรมชาติ มีดวงดาว ตะวัน จันทราเคลื่อนโคจรมีสภาวะอินหยังในปฐมภาวะไหลเวียนไปทั่ว ธรรมะอยู่ที่ดิน ทำให้เกิดการก่อตัวผนึกขึ้นเป็นภูเขา ลำธาร แม่น้ำ ทะเล อีกทั้งชโลมชุบเลี้ยงสรรพชีวิต การก่อเกิดและเจริญเติบโตของสรรพสิ่ง ล้วนอาศัยพลังธรรมชาติมาเสริมสร้าง ธรรมะอยู่กับมนุษย์ มนุษย์ก็มีชีวิต จึงมีความรู้สึกนึกคิด มีพฤติกรรมต่างๆ ทุกคนต่างก็มีธรรมญาณที่มาจากอนุตตรภูมินี้แล้วแต่น่าเสียดายที่ไม่รู้จักที่จะย้อนกลับมาแสวงหา จึงไม่อาจหลุดพ้นเกิดตายได้

   ปราชญ์ พุทธ เต๋า สามศาสนาหลักเดียวกัน สามศาสดา ล้วนรับพระบัญชาจากแม่ฯมาฉุดช่วยชาวโลก สิ่งที่ถ่ายทอดล้วนคือหลักวิถีจิตอันอัศจรรย์ที่ไร้รูปลักษณ์ จิตญาณนี้ ศาสนาเต๋าเรียกว่า ญาณวิเศษ
ศาสนาพุทธเรียกว่า วัชรญาณ ศาสนาปราชญ์เรียกว่า ธรรมญาณ ถึงแม้ชื่อที่เรียกจะไม่เหมือนกัน แต่ก็เป็นสิ่งเดียวกัน หลายพันปีที่ผ่านมา ศาสนามีหลากหลาย แต่สัจธรรมมีเพียงหนึ่งเดียว เป็นเอกวิถีที่เทพเซียนพุทธะอริยะถ่ายทอดจากปากสู่จิต ล้วนคือหลักวิถีจิตนี้

   เมื่อเข้าใจหลักวิถีจิตก็สามารถกระจ่างแจ้งแทงตลอดในสรรพธรรมและพระสูตรคัมภีร์ทั้งปวง ตั้งแต่สามศาสดากลับคืนสู่อนุตตรภูมิแล้ว ก็หยุดการถ่ายทอดวิถีจิต เหลือไว้เพียงพระสูตรคัมภีร์กล่อมเกลาชาวโลก จวบจนบัดนี้ประมาณสามพันปีแล้ว ไม่มีใครเข้าใจถึงความอัศจรรย์เร้นลับของธรรมอย่างแท้จริง ลัทธิศาสน์มากมายต่างเฟื่องฟู แต่ก็ยังไม่ได้นำพาเข้าสู่หนทางตรง หลักวิถีจิตนี้จึงไม่มีใครเข้าใจ

   บัดนี้ยุคไป๋หยัง สนองเกณฑ์วาระเปิดการปกโปรดครั้งใหญ่ วิถีธรรมโปรดลงสู่โลกงานชุมนุมหลงฮว๋าครั้งใหญ่นี้ ฟ้าเบื้องบนจะเลือกเฟ้นผู้มีคุณธรรมและความสามารถ เพื่อแพร่ประกาศธรรมวิถียุคไป๋หยังให้รุ่งเรืองกว้างไกล ด้วยการสืบสานสัจธรรมแห่งอนุตตรภูมิ แพร่ประกาศวิถีจิตของสามศาสนา อีกทั้งจุดประกายให้แก่เวไนยตื่นแจ้งในจิตญาณร่วมกันขึ้นสู่เรือธรรม ปริศนาแห่งอนุตตรยานที่พระอริยะทั้งหลายไม่ถ่ายทอดกันโดยง่าย ใครเล่าจะเข้าใจ? คิดจะแสวงธรรมจริงและได้รับการถ่ายทอด ก็ต้องรีบเสาะหาบรรพจารย์กงฉังผู้เป็นวิสุทธิอาจารย์ ผู้ที่ได้รับธรรมแล้วจะต้องอาศัยสิ่งสมมุติบำเพ็ญจิตญาณ รีบเร่งสร้างกุศลบ่มเพาะคุณธรรม ยิ่งจะต้องแยกแยะให้กระจ่างชัดว่าอะไรจริงอะไรปลอม มีเพียงธรรมะเท่านั้นที่ดำรงอยู่ชั่วกัปชั่วกัลป์ ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกสุดท้ายก็คืนสู่ความว่าง

   มนุษย์อยู่ในโลกนี้ เล็กมากเหมือนดั่งเมล็ดข้าวที่อยู่กลางมหาสมุทร ถูกเกลียวคลื่นซัดไปซัดมา พาให้หลงทิศทาง อีกทั้งจิตญาณยังลุ่มหลงไปกับสุรา นารี พาชีกีฬาบัตร ปล่อยไปตามอารมณ์เจ็ด และตัณหาหก ยิ่งทำให้จิตญาณอันสว่างไสวถูกบดบังไป

   คลื่นทะเลแห่งความอยากซัดสาดถาโถมไม่เคยหยุด ความรักความผูกพันคือชื่อคล้องยากพ้นจากพันธนาการ โลภหลงอยู่ในความฟุ้งเฟ้อชื่อเสียงลาภยศ ล้วนเป็นการผูกมัดตนเองทั้งสิ้น ถึงแม้ว่ายศบรรดาศักดิ์ความร่ำรวยเหมือนดั่งฟ้าแลบ หรือประกายไฟที่เกิดขึ้นเพียงชั่วพริบตาเดียว แต่กรรมเวรที่ก่อไว้นั้น ไม่ว่าผ่านไปกี่ภพกี่ชาติก็ยากหลุดพ้นได้ ผู้ที่จิตลุ่มหลงไขว่คว้าแต่สิ่งจอมปลอมไหนเลยจะถ่องแท้ว่าโลกโลกีย์นั้นเป็นสิ่งสมมุติ? ล้วนเห็นสิ่งสมมุติเป็นสิ่งจริงแท้ หาความสุขท่ามกลางทะเลทุกข์ มีชีวิตที่ต่ำต้อยดั่งมดดั่งแมลงเช่นนั้น

   คนมีชีวิตอยู่ประมาณร้อยปี แต่ก็เหนื่อยยากลำเค็ยถึงสามหมื่นหกพันวัน ทำไมไม่ลองคิดดูว่ากายใจได้สงบสุขสักกี่วัน? ตั้งแต่วัยเด็กถึงวัยกลางคนจวบจนแก่เฒ่า และถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ลิ้มลองมาทุกรสชาติของชีวิต หากไม่ใ่ช่รู้สึกเคว้งคว้างก็รู้สึกหดหู่ใจ ใครเล่าจะหลบพ้นทุกข์ระทมแห่งการเกิดแก่เจ็บตาย วันเวลาที่ไร้เยื่อไย จากเด็กน้อยชั่วพริบตาเดียวก็กลับกลายเป็นคนเฒ่าชรา

   เกิดมาก็มาแต่ตัว ตายไปก็ไปแต่ตัว อะไรก็นำไปไม่ได้ สุสานยังคงอยู่ แต่วิญญาณต้องลงขุมนรก ถึงแม้จะเป็นขุนนางตำแหน่งสูงส่งเพียงใด กฏสวรรค์ตัดสินบุญบาปด้วยความยุติธรรม กฏแห่งกรรมทำเองรับเอง จะต้องไปรับกรรมโดยไปเกิดเป็นมนุษย์ หรือเดรัจฉานนั่นก็ไม่อาจเลือกเองได้

   ตั้งแต่เกณฑ์ขาลจนบัดนี้เป็นเวลาหลายหมื่นปีแล้ว เกิดตายเวียนว่ายไม่สิ้นสุด ยากจะพรรณาถึงความกล้ำกลืนและความเศร้าวังเวง วิญญาณออกจากร่างนี้ไปเข้าร่างนั้น เหมือนดั่งย้ายบ้านเปลี่ยนที่พักพิง บางชาติเกิดเป็นชายบ้างสกุลจาง บางภพเกิดเป็นหญิงสกุลหลี่บทบาทการแสดงของชีวิตปิดฉากเหลือแต่ความว่างเปล่า ยิ่งเวียนว่ายแปรเปลี่ยนก็ยิ่งลุ่มหลงยิ่งถลำลึกก็ยิ่งตกต่ำ ลืมสิ้นแม่ฯผู้ให้จิตญาณแก่เจ้า

   มนุษย์มาจากฟ้าเบื้องบน ล้วนคือญาณที่แบ่งมาจากแม่ฯ ดวงธรรมญาณนี้แม้ว่าจะเป็นอริยะก็ไม่ได้มากขึ้น เป็นปุถุชนก็ไม่ได้น้อยลง มีต้นกำเนิดเดียวกัน หากสามารถตื่นแจ้งแล้วคืนสู่จิตเดิมได้ ก็สามารถบรรลุเป็นอริยะปราชญ์สถิตอยู่ในแดนสุขาวดีตลอดไป หากยังหลงใหลอยู่ในโลกีย์เห็นปลอมเป็นจริง ก็คือปุถุชนต้องรับความทุกข์ทรมานอยู่ในความมืดมิดตลอดไป

   อริยะปราชญ์เซียนพุทธะล้วนบำเพ็ญสำเร็จมาจากมนุษย์ แต่ไหนแต่ไรมาไม่เคยเห็นว่าพอเกิดมาก็เป็นเซียนพุทธะเลย หวังว่าลูกทั้งหลายเร่งรีบถ่องแท้ในจริงและปลอม แปรเปลี่ยนจากลุ่มหลงเป็นตื่นแจ้ง กราบขอรับวิถีธรรมจากวิสุทธิอาจารย์ ฟื้นฟูโฉมหน้าเดิมคืนสู่ต้นกำเนิด กลับมาหาแม่ฯ

วันอาทิตย์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2556

มหาธรรมฟ้าปางก่อน

     มหาธรรมฟ้าปางก่อน เรียกย่อว่า “ธรรมะ” หากเราสังเกตอย่างละเอียด เมื่อจิตตื่นแจ้งแล้ว ก็จะค้นพบว่าปรากฏการณ์มากมายหลากหลายในท่ามกลางจักรวาลนี้ มีความซับซ้อนแต่เป็นระเบียบและการหมุนเวียนของสรรพสิ่งอีกทั้งเรื่องราวต่าง ๆ ในโลกของธรรมชาติก็มีกฎเกณฑ์ที่แน่นอน ผู้ควบคุมที่แท้จริงของฟ้า ดิน มนุษย์ และสรรพสิ่งสรรพชีวิตนั้น ก็คือธรรมะ ธรรมะดำรงอยู่ก่อนที่จะเกิดฟ้าดิน ดั้งนั้นจึงเรียกว่า “มหาธรรมฟ้าปางก่อน” 

    "ธรรมะ" นั้นก็คือหลัก หลักก็คือสัจธรรม ก่อนที่ฟ้า ดิน คน สรรพสิ่งยังไม่ก่อเกิด ธรรมะก็ดำรงอยู่แล้ว และธรรมะสามารถก่อเกิดฟ้า ดิน คน และสรรพสิ่งต่างๆนานา เมื่อ ฟ้า ดิน คน และสรรพสิ่งสิ่งสูญสลายแล้ว ธรรมะไม่ได้สูญสลาย เหตุเพราะธรรมะไม่มีไปไม่มีมา ไม่มีเกิดและไม่มีดับ แสดงให้เห็นถึงสัจธรรมที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงของจักรวาล

     องค์ธาตุแห่งธรรม ก็คือองค์ธาตุของธรรมชาติในจักรวาล เมื่อเริ่มแรกยังเป็นสภาวะคละเคล้า ในจักรวาลเป็นเพียงสุญตาแยบยลไม่มีฟ้า แผ่นดิน มนุษย์ และไม่มีภาษาและอักษร เนื่องจากมหาธรรมไร้นาม จึงขอฝืนเรียกนามว่า “ธรรมะ” คำนี้มาเปรียบเปรย เราจึงไม่อาจคิดพิจารณาหรือใช้ภาษา อักษรใดๆ มาเปรียบเปรยธรรมะได้

  หลังจากฟ้าดินก่อเกิดแล้ว ธรรมะเป็นหลักของสรรพสิ่งในจักรวาล ทำให้ปรากฏการณ์ธรรมชาติทั้งหลายมีการหมุนเวียนได้อย่างสอดคล้องกัน และเป็นระเบียบไม่สับสน นี่ก็คือคุณประโยชน์อันแยบยลแห่งธรรม
   
     "ธรรมะ" ยิ่งใหญ่แต่หลักละเอียดอ่อน แม้ว่าทุกขณะเวลา พวกเราไม่ได้ห่างจากองค์ธาตุและคุณประโยชน์อันแยบยลแห่งธรรม แต่การจะเข้าใจธรรมะนั้นมิใช่เรื่องง่าย ด้วยเหตุนี้เมื่อสองถึงสามพันปีก่อนพระอริยะในแต่ละศาสนาสนองเกณฑ์วาระอวตารสู่โลก ต่างโปรดฉุดช่วยในแต่ละพื้นที่ ตามความเหมาะสมของกาลฟ้า สถานที่ และรากบุญของเวไนย คงไว้ซึ่งหมื่นพันคัมภีร์ ถ่ายถอดธรรมวิถีมากมายในการบำเพ็ญขจัดความชั่วมุ่งสู่ความดี อีกทั้งยังทำให้เวไนยได้เข้าใจว่า ในท่ามกลางความลี้ลับนั้น มีผู้ควบคุมสรรพสิ่งในจักรวาล ซึ่งอาจเรียกว่า “พระเจ้า” หรือ “พระผู้เป็นเจ้า” เราเรียก “ธรรมะ” หรือ “พระอนุตตรธรรมมารดา” แม้พระนามจะแตกต่างกันแต่มีความหมายเดียวกัน เมื่อเราได้เข้าใจและรู้ซึ้งในธรรมอีกขั้นหนึ่งแล้ว ก็จะรู้ว่า...แท้ที่จริงทุกสิ่งทุกอย่างในท่ามกลางฟ้าดินนี้ ล้วนเกิดขึ้นจากองค์ธาตุและคุณประโยชน์อันแยบยลแห่งธรรมประกอบกัน

     ด้วยเหตุนี้ แม้ว่าธรรมะจะเป็นต้นกำเนิดและครอบคลุมไปถึงแก่นทุกศาสนาแต่ก็ไม่ได้จำกัดพรมแดนของศาสนา และ “พระเจ้า” หรือ “องค์ธรรมมารดา” ไม่เพียงเป็นศูนย์รวมความศรัทธาอันสูงสุดของทุกศาสนาแล้ว ยังเป็นต้นกำเนิดและเป็นผู้ควบคุมสูงสุดของสรรพสิ่งสรรพชีวิตท่ามกลางฟ้าดิน อีกทั้งเป็นสัจธรรมที่ไม่เปลี่ยนแปลงตลอดกาลในจักรวาลนี้

     ดังนั้นวันนี้เรามีโอกาสได้เข้าใจว่า อะไรคือ “มหาธรรมฟ้าปางก่อน” ไม่เพียงแต่ค้นพบศูนย์รวมความศรัทธาอันสูงสุดของทุกศาสนาแล้ว ยังได้ค้นพบต้นกำเนิดและผู้ควบคุมสูงสุดในจักรวาลอีกทั้งยังเป็นเบื้องต้นของความเข้าใจสัจธรรมสูงสุดในจักรวาล



วันพฤหัสบดีที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2556

ธรรมะกับเราเกี่ยวข้องกันอย่างไร ?

     คุณวิเศษของธรรมะอยู่ที่ความยิ่งใหญ่ครอบคลุมทุกสิ่ง ความละเอียดเล็กจนเข้าได้ทุกที่ หลังจากฟ้าดินก่อเกิดแล้ว ธรรมะแทรกซอนไปทั่วฟ้าดินและสรรพสิ่ง ทำให้การเคลื่อนโคจรของดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดวงดาวต่างเป็นไปตามกาลเวลา การหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนของฤดูกาล การเพิ่มขึ้นหรือลดลงของสรรสิ่งล้วนมีระเบียบกฏเกณฑ์

     และสิ่งล้ำค่าที่สุดก็คือ ผู้ควบคุมฟ้าดินและสรรพสิ่งนี้ ยังควบคุมทั่วร่างกายของพวกเรา นั่นเรียกว่า "ธรรมญาณ" ทำให้พวกเรามองเห็น ฟังได้ กินได้ เคลื่อนไหวได้โดยไม่ต้องเรียนรู้ ดังนั้นพวกเราไม่เพียงต้องขวนขวายศึกษาหลักธรรมอันสูงสุดของฟ้าดินแล้ว ยิ่งต้องหันกลับมาทำความเข้าใจสัจธรรมที่มีมาแต่เดิมในตัวเรา ฉะนั้น "มหาธรรมฟ้าปางก่อน" ก็คือ "การถ่ายทอดสัจธรรมแห่งญาณเดิม" นั่นเอง

     คุณวิเศษของธรรมะ ไม่ใช่อยู่ที่ว่ามีอะไรลึกลับ หายากหรือมีอะไรพิเศษ แต่อยู่ที่ความเป็นปกติธรรมดา ทว่าทุกเวลาพวกเรากลับไม่อาจออกห่างจากองค์ธาตุและคุณประโยชน์อันแยบยลแห่งธรรมได้เลย

     หากพวกเราย้อนมองตนเอง ก็จะรู้ว่าโครงสร้างร่างกายของพวกเรานั้นมีความสลับซับซ้อนและน่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง แต่ก็เกี่ยวโยงไปถึงบทบาททางกายภาพของข้อต่อและปฏิกิริยาของพลังงาน การถ่ายทอดสัญญาณข้อมูลของระบบประสาท ตลอดจนการแยกและวินิจฉัยและถ่ายทอดคำสั่งของสมอง ซึ่งตามมาตรฐานด้านวิทยาการและเทคโนโลยีของโลกในปัจจุบัน ก็ยังไม่สามารถที่จะอธิบายได้ทั้งหมด

     แต่ความสามารถของพวกเราที่กระทำออกมานี้ กลับไม่มีผลกระทบอย่างไรต่อความแตกต่างในระดับความรู้ความเข้าใจของแต่ละบุคคล ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการที่มีความรู้มากมาย หรือคนหาบเร่ที่ไม่รู้หนังสือ ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่หรือทารกแรกเกิด ล้วนเคลื่อนไหวเช่นนี้ได้อย่างง่ายดาย ทุกคนมีมาตั้งแต่เกิด รู้ได้โดยไม่ต้องพิจารณาทำได้โดยไม่ต้องเรียนรู้ เป็นปรีชาญาณและสัญชาตญาณที่ไม่มีการเพิ่มหรือลด นั่นก็คือ "ธรรมะ" ที่ควบคุมตัวเรา

     ความรู้ความสามารถที่พวกเราได้จากการศึกษานั้น บางทีอาจจะลืมไปหรือห่างเหินไปบ้าง แต่องค์ธาตุและประโยชน์อันแยบยลแห่งธรรมนั้น ไม่ต้องเรียนรู้ ไม่ต้องคิดพิจารณา ในวงกว้างสามารถควบคุมการเพิ่มหรือลดของสรรพสิ่งในจักรวาล ในวงแคบสามารถควบคุมการเห็น การฟัง การพูด การเคลื่อนไหวของร่างกายเรา เป็นสิ่งที่พวกเรามีอยู่แต่ไม่รู้ว่ามี ใช้ประโยชน์อยู่แต่ไม่รู้ว่าได้ใ้ช้ แต่ทุกขณะกลับขาดไม่ได้ สิ่งที่ไม่เพิ่มไม่ลดนี้ เดิมทีก็มีพร้อมสมบูรณ์อยู่แล้ว เป็น "ธรรมะ" ที่มีอยู่ในตัวเรา ก็เพราะอยู่ในตัวเรา จึงเรียกว่า "จิตญาณเดิมแห่งองค์ธรรมมารดา"

     พวกเราได้เข้าใจถึง "ธรรมะ" นี้ที่ควบคุมฟ้าดินและสรรพสิ่งในตัวของเราก็มี บทบาทของธรรมไม่ได้มีมากขึ้นหรือลดน้อยลงไป เพราะการยกย่องหรือไม่ยอมรับจากพวกเรา ไม่ว่าเผ่าพันธุ์ สีผิวสัญชาติ การนับถือศาสนา หรือร่ำรวยสูงศักดิ์ฺ ยากจนต่ำต้อย ล้วนไม่มีความแตกต่าง

     ดังนั้น เมื่อพวกเราได้รับ "มหาธรรมฟ้าปางก่อน" ไม่เพียงค้นพบต้นกำเนิดของจักรวาล ยังค้นพบตัวตนแท้ที่ไม่เกิดไม่ดับ ไม่เพียงได้รู้จักผู้ควบคุมสูงสุดของจักรวาล ยังได้รู้จักผู้ควบคุมที่แท้จริงในตัวเรา ไม่เพียงได้ค้นพบหลักธรรมอันสูงสุดของจักรวาล ยังค้นพบสัจธรรมและปรีชาญาณ สัญชาตญาณที่มีอยู่แล้วในตัวเราด้วย


วันอาทิตย์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

มหาสัทธรรมนั้นเสมอภาค - พระพุทธจี้กง เมตตา


พระพุทธจี้กง เมตตา 

     "ชาวโลก ไม่ว่าจะบำเพ็ญเต๋า หรือนับถือพุทธ ขอเพียงแต่ให้ค้นคว้าถึงสัทธรรมแท้ๆ ในพระธรรม ให้เข้าใจถึงความคิดของเต๋า จิตแรกแห่งพุทธะ และรากเหง้าแห่งปราชญ์ ทั้งสามศาสนาย่อมมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน ต่างก็ช่วยกันขจัดความทุกข์กังวลให้แก่มวลมนุษยชาติ เพื่อให้จิตอิ่มเอิบด้วยความปีติยินดี หากท่านไม่อาจบรรลุถึงผลระดับนี้ ก็เกรงว่าท่านจะอยู่ห่างไกลจาก "เส้นทางอริยะ" เสียแล้ว อาตมาจะเล่าเรื่องหนึ่งเป็นตัวอย่าง

     มีหมู่บ้านแห่งหนึ่งในศาลเจ้าเล็กๆ หลักหนึ่ง ภายในมีรูปพระศาสดาของทั้งสามศาสนาตั้งอยู่ บังเอิญมีศิษย์ขงจื้อผ่านเข้ามายังศาลเจ้านี้ มองเห็นรูปของบรมครูจอมปราชญ์ขงจื้อตั้งอยู่ทางขวามือ เกิดจิตไม่สบายใจ จึงพูดกับตนเองว่า "ท่านขงจื้อมีหลักธรรม เผยแผ่มาจนถึงทุกวันนี้ บุญบารมีคู่ฟ้าดิน จะนั่งอยู่ข้างๆ ได้อย่างไรกัน" พูดจบก็อัญเชิญพระพุทธรูปย้ายไปไว้ทางขวามือ แล้วยกพระรูปท่านขงจื้อมาตั้งไว้ตรงกลาง

     ต่อมาไม่นานนักก็มีศิษย์เต๋าผู้หนึ่งผ่านเข้ามา ไม่เห็นพระรูปท่านเหลาจื่อ ตั้งอยู่ตรงกลางแท่น แต่กลับอยู่ทางซ้าย ใจก็ไม่ค่อยจะสบาย ก็พูดขึ้นว่า "พระธรรมแห่งเล่าจื้อคลุมไปทั่วโลก ฉันเป็นศิษย์แห่งเต๋า จะนั่งดูดายไม่สนใจได้อย่างไร จะเป็นการเสื่อมศักดิ์ศรีแห่งเต๋าไป" และแล้วก็ย้ายรูปท่านเหลาจื่อมาไว้ตรงกลางแท่นบูชา

     เมื่อท่านเต๋าหยินผ่านไปแล้ว ก็มีพระภิกษุรูปหนึ่งเข้ามาภายในศาลเจ้า เห็นเข้าก็ตกใจกลัว กล่าวว่า "พระพุทธเจ้าข้าเอย อิทธิฤทธิ์กว้างใหญ่ไพศาล ทำไมมาประทับอยู่ทางขวาเล่า ความอัครฐานแล้วก็ต้องอยู่ตรงกลางถึงจะถูก" ก็เลยเลื่อนพระพุทธรูปยูไลสัมมาสัมพุทธเจ้ามาไว้เสียตรงกลาง

เรื่องเป็นอย่างนี้ เอาพระภูมิแห่งศาสดาทั้งสามมายื้อแย่งแบบนี้ ดูไม่สมควร

     จากเรื่องที่เล่ามา สามารถเห็นได้ว่ามหาสัทธรรมนั้นเสมอภาค พระแท้ย่อมไม่แก่งแย่ง โดยทั่วไปก็มักพบว่าตามศาลเจ้ามักมีรูปองค์พระศาสดาทั้งสามเรียงกันอยู่ เกื้อหนุนกันอยู่ ยังไม่เคยพบว่าท่านทั้งสามเกิดการทะเลาะเบาะแว้งหรือทำเรื่องที่ไม่ดีงาม ถ้าหากยังมีใจแบ่งแยกเป็นพรรคเป็นพวกนับเป็นการกระทำของปุถุชน

     หวังว่าชาวโลกคงพิจารณาถึงเรื่องดังกล่าว จากวันนี้เป็นต้นไป ต้องละทิ้งเรืิ่อง "แบ่งเขาแบ่งเรา" "ความคับแคบ" ของจิตใจ เพื่อเป็นการเปิดเส้นทางสู่ความอริยะ เพิ่มความขยันหมั่นเพียร เพื่อความภราดรภาพแห่งสากลโลกนี้เทอญ"



วันศุกร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

รู้แจ้งเห็นจิตแท้ธรรมญาณ แปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์เป็นหนึ่ง


     เมื่อภาวะสูญตาอันสงบนิ่งเกิดการเคลื่อนไหว ทำใหเกิดจุดหนึ่งของความเปลี่ยนแปลง ในมหาจักรวาล สุญญตาภาวะของ หนึ่ง คือ เต๋า หรือ ธรรมะ

    เต๋าหรือธรรมะ เป็นเหตุปัจจัยสืบเนื่องต่อไปให้เกิดสรรพสิ่ง จากหนึ่ง เป็นสอง สาม สี่  เป็นหมื่นแสนมิรู้จบ

ฟ้าได้ความเป็นหนึ่งฟ้าสงบใส
พื้นโลกได้ความเป็นหนึ่งพื้นโลกจะสงบสุข
คนได้ความเป็นหนึ่งคนจะเป็นอริยะ

     ดังที่พระพุทธะตรัสไว้ว่า  "รู้แจ้งเห็นจิตแท้ธรรมญาณ  แปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์เป็นหนึ่ง"
ท่านเหลาจื้อได้โปรดสอนว่า "บำเพ็ญจิตฝึกธรรมญาณ ประคองธาตุกำเนิดรักษาความเป็นหนึ่งไว้"......
ท่านขงจื้อก็ได้โปรดสอนว่า  "โน้มนำจิตกล่อมเกลี้ยงธรรมญาณ  ประคองความเป็นกลางเข้าสู่ความเป็นหนึ่ง"
       
    หนึ่งคือภาวะหลักของสัจธรรม คนได้รับหลักสัจธรรม คือได้รับธาตุแท้ญาณเดิม ได้รับความเป็นหนึ่งของฟ้า จึงเป็นชีวิตของกายสังขาร

     ดังนั้น ภาวะเดิมของธรรมญาณอันกลมกลืนสว่างใส เป็นธรรมชาติธาตุเดียว ขณะอยู่ในครรภ์มารดาจึงไม่ต้องดื่มกิน  ไม่ีมีความคิดดำริวิตก  อาศัยการหายใจของมารดา เป็นกระแสเดียว จนเมื่อเกิดกายออกมาร้องแว้ กระแสของอิน หยังเข้าทางจมูก  ภาวะความเป็นหนึ่งจึงกลายเป็นสองไปทันที

     ดังที่กล่าวแล้วว่าก่อนธรรมญาณจะอาศัยในกายเนื้อ ธรรมญาณวิภาวะเป็นหนึ่ง เมื่อเข้าอาศัยกายกำเนิดจึงมีผลของชะตากรรมกำหนดมาประกอบเข้าด้วยกัน  จึงเป็นชีวิตที่มีอิน หยัง คือมืด สว่าง ถูก ผิด ดี ร้าย ฯลฯ

     ดังนั้น ธรรมญาณและชะตาชีวิตจึงสูญสิ้นความเป็นหนึ่ง เมื่อขาดความเป็นหนึ่ง ธรรมญาณจะกระจายระเริงไป เมื่อธรรมญาณระเริงไป ธรรมญาณก็มิได้สถิตอยู่กับญาณทวาร  ไปพ้นจากฐานของสริสัมภวะ ฐานนั้นจึงว่างเปล่า ปราศจาพลังสถิต

เมื่อธรรมญาณระเริงไปสู่นัยน์ตาก็ติดในรูป
ระเริงไปสู่หูก็ติดในเสียง
ระเริงไปสู่จมูกก็ติดกลิ่น
ระเริงไปสู่ปากก็ติดรส และวาจา
ระเริงไปสู่แขนขาก็ติดอาการ
ระเริงไปสู่ผิวหนังก็รู้สึกเจ็บคัน
ระเริงไปสู่รูขุมขนก็รู้หนาวร้อน
ระเริงไปสู่อวัยวะช่องท้องก็รู้อิ่มรู้หิว
ระเริงไปสู่จิตก็รู้ในกามคุณทั้งหก คือ รูป  เสียง  กลิ่น  รส  สัมผัส  อารมณ์
ระเริงไปสู่มโนวิญญาณก็รู้อารมณ์ทั้งเจ็ด คือ ยินดี โกรธ โศก สุข รัก เกลียน อยาก
       
     เมื่อเป็นเช่นนี้ ชีวิตจิตใจจึงร่อนเร่ เมามายเหมือนคนตาย เหมือนหลับฝัน  ถลำตัวมั่วหมก อยู่กับความวิตกทุกข์ภัย

     เมื่อชะตาชีวิตขาดความเป็นหนึ่งชะตาชีวิตจะตกวิบาก  วิญญาณจะถลำอยู่กับอารมณ์ต่าง ๆ ในกามคุณ จะจมอยู่กับสุรา นารี  จะฝังชีวิตไว้กับลาภสักการะ เมื่ออกจากกายสังขารก็จะเวียนว่ายต่อไปในรูปกำเนิดสี่ชีววิถีหก ไม่อาจกลับคืนสู่สภาวะความเป็น หนึ่ง แห่งธาตุแท้ธรรมญาณได้

เมื่อฟ้าขาดความเป็น หนึ่ง  ดาวเดือนจะผิดระบบการโคจร
เมื่อแผ่นดินขาดความเป็นหนึ่ง ภูเขาจะถล่มแผ่นดินจะทลาย
เมื่อคนขาดความเป็นหนึ่งจะตกไปสู่วัฏจักรของการเวียนว่าย
จิตเดิมแท้ของธรรมญาณ เป็นภาวะหลักของสังขาร
คำว่า  หลัก  อักษรจีนเขียนว่า  หลี่
เมื่อหลักขาดความเป็น หนึ่ง อ่านว่า ไหม  แปลว่า ถูกฝัง

     มีความเป็นหนึ่งจึงเป็นหลัก  ดังคำกล่าวที่ว่า "มีหลักท่องไปได้ในโลกกว้าง  ขาดหลักไปได้ยากนักแม้สักก้าวเดียว"

วันอังคารที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ธรรมจริงแท้เดิมทีไร้ลักษณา เพียงพริบตาหลุดพ้นห้วงเกิดตาย - พระโอวาทสิ่งศักดิ์สิทธิ์ องค์ประธานคุมสอบสามภูมิ


    ธรรมจริงแท้ฤาแปลกปลอมนั้นแตกต่าง
ธรรมปลอมสร้างปาฏิหารย์สิ่งลวงตา
ธรรมจริงแท้เดิมทีไร้ลักษณา
เพียงพริบตาหลุดพ้นห้วงเกิดตาย

     ครั้งกระโน้นขงจื้อกราบครูเจ็ดคน
หลังได้ยลเหลาจื้อไขปัญหา
หลุนอวี่กล่าวเช้ารับธรรมเย็นมรณา
ธรรมปริศนาผู้คนยากแจ้งใจ

     ในครานั้นเจิงจื่อรับขานเสียง "เหวย"
ยากเฉลยศิษย์สามพันต่างกังขา
ศากยมุนีหกปีทุกขกิิริยา
พระุพุทธาทีปังกรส่งมอบธรรม

     งานหลิงซันหมุนบุปผาหน้าหมู่สงฆ์
สัทธรรมตรงนัยตาแฝงแจ้งเลิศล้ำ
กัสสปะเผยรอยยิ้มปิตินำ
ผู้อื่นคลำหาทางมิเข้าใจ

     หุบเหวเทพไม่สิ้นชีพเหลาจื้อกล่าว
ธรรมนั้นเล่าอัศจรรย์แฝงความหมาย
แต่บุราณสำเร็จเป็นเทพไท้
มีไหมไม่เสาะหาวิสุทธาจารย์

     เพราะเวลาแห่งฟ้ายังไม่ถึง
ถ่ายทอดหนึ่งสู่หนึ่งสืบพงศา
มาบัดนี้เกณฑ์สามเวียนผ่านมา
ฟ้าบัญชาวิสุทธาฯ ช่วยโลกีย์

     กงฉังจื่อซี่ร่วมรับพระโองการ
ปกโปรดงานสามภพเทพคนผี
ประชาต่างได้รับปลายกัปนี้
ธรรมวิถีฟ้าบัญชาสืบทอดไกล

     หลายปีผ่านปกโปรดทุกถิ่นที่
ทั่วปฐพีธรรมเกรียงไกรแผ่ไพศาล
บุญสัมพันธ์ได้พบธรรมมิช้านาน
หลงสำราญมิปลงใจไร้บุญญา

     มีบุญญาได้มาัรับธรรมฟ้า
บำเพ็ญพาโปรดบรรพชนแลลูกหลาน
ได้รับธรรมแม้นมีบุญเบาบาง
มิช้านานใจปรวนแปรแห่หนีไป

     บำเพ็ญไปจิตใจหลงคิดผิด
เหมือนสิ้นคิดหาทางคอยขัดขวาง
ใจลบหลู่เบื้องบนแลถากถาง
เดินผิดทางรู้เมื่อสายภัยถึงตัว

     พุทธะตรัสละคลางแคลงแจ้งปัญญา
จิตศรัทธาดลใจฟ้าคำปราชญ์กล่าว
ได้รับธรรมแพร่ธรรมในยุคขาว
สุกสกาวมรรคผลบุญหลงฮว๋างาน

     ทุกข์เคี่ยวกรำช่วงเวลาเพียงอึดใจ
เสวยในมรรคผลหมื่นแปดร้อยปี

วันอาทิตย์ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

น้ำ...กอปรด้วยคุณธรรม



น้ำ...กอปรด้วยคุณธรรม


    ท่านอริยปราชญ์เหลาจื่อ เขียนคำนิยามเกี่ยวกับน้ำไว้ว่า กุศลสูงเยี่ยงน้ำ ด้วยน้ำให้คุณต่อสรรพสิ่ง โดยไม่เบียดบัง

บรมครูขงจื่อให้คำนิยามไว้ว่า น้ำกอปรด้วยคุณธรรมห้าประการ

น้ำเป็นกระแสไหลไม่หยุดยั้ง นำความชุ่มฉ่ำไปสู่ชีวิตทั้งหลาย เหมือนมีเมตตาธรรม

น้ำไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ ไม่ขัดขืนฝืนทวน เ้ข้ากับลักษณะที่รองรับ เหลี่ยมยาวอย่างไร ก็เป็นไปตามสภาพอันควร เหมือนมีทำนองคลองธรรม

น้ำยิ่งใหญ่ไพศาล มิอาจประมาณขอบเขตความลุ่มลึกกว้างไกล เหมือนมีสภาวะธรรมอันคุณาการ

น้ำโกรกจากหน้าผานับร้อยวาสู่หุบเขาใหญ่โดยไม่หวั่น เหมือนมีพลังความกล้าหาญ

น้ำเมื่อตั้งวางก็ราบเรียบ ไม่เอาเปรียบสูงต่ำ เหมือนรักษาวินัย ปริมาณที่เห็นเป็นเท่าใดก็เท่านั้น ไม่ต้องตัด หั่น บั่น ทอน เหมือนมีความเที่ยงตรง 

น้ำซึมซาบ ซอกซอนถึงที่สุด เหมือนรู้พิเคราะห์ละเอียดลึกซึ้ง

ต้นน้ำจะเริ่มจากทิศตะวันตกเป็นที่ตั้ง เหมือนมีความมุ่งมั่นที่แน่นอน
     น้ำจะตักขึ้นใช้สอย ถ่ายเทอย่างไรไม่ขัดข้อง เช่นนี้จึงชำระล้างสรรพสิ่งให้สะอาดหมดจดได้ อีกทั้งเหมือนรู้จักปรับสภาพให้เหมาะควร น้ำชอบด้วยคุณธรรมความดีมากมายดังกล่าว ฉะนั้นกัลยาณชนพบน้ำที่ใด จึงควรพินิจพิจารณา

มองน้ำจึงให้พิจารณาถึงต้นกำเนิดของน้ำ
     อักษรจีนคำว่าใส ( 白 อ่านว่า ไป๋ ) กับ น้ำ ( 水 อ่านว่า สุ่ย ) รวมกัน คือ เฉวียน หมายถึง แหล่งน้ำ
แหล่งน้ำก็คือต้นน้ำ
     ลำธาร กำเนิดจากต้นน้ำบนภูเขา จะไหลอยู่ทั้งวันทั้งคืนไม่ขาดสาย เีรื่อยลงไปบรรจบทะเล แม่น้ำ ลำคลอง นับร้อยโดยดุษณี
     ผู้มีจิตงดงามดังน้ำ จึงมีสภาวะธรรมเช่นต้นน้ำที่รินไหลไม่ขาดสาย และไม่เปลี่ยนแปลง ต้นน้ำไหลรินจึงเหมือนจิตที่ปีติท่วมท้นด้วยคุณธรรม
     ผู้ใฝ่ธรรมทั้งหลายจึงพึงพิจารณาบำเพ็ญตนให้เหมือนน้ำใสที่ให้คุณนับร้อยต่อสรรพสิ่งทั้งหลายโดยไม่ว่างเว้น


วันพฤหัสบดีที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ตนเองนี้ชาตินี้ไม่ช่วยไว้ ชาติใดได้ช่วยตนพ้นว่ายเวียน - พระโอวาทสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ท่านห-ลวี่ต้งปิน (吕大仙)






รู้แ้จ้งดุจ ยามดึก ได้ประทีป
บ้านมืดมิด พลันแจ้ง แสงสุกใส
ตนเองนี้ ชาตินี้ ไม่ช่วยไว้
ชาติใดได้ ช่วยตน พ้นว่ายเวียน

หนึ่งจะเตือน เมธี เร่งบำเพ็ญ
อย่ามัวเล่น เพลินหลง โลกีย์สี
เรื่องทางโลก โรยรา ดั่งมาลี
เหมือนราตรี หลับฝัน พลันหายไป

ใบหน้าวัย วัยก่อน กลายแก่เฒ่า
ผมก็ขาว โรยลง ไม่คงได้
ตรากตรำกาย ยากเข็ญ เป็นทุกข์ใจ

พลันกำหนด สุดท้าย ได้มาถึง
ทุกสิ่งซึ่ง หวงแหน ต้องทิ้งไว้
ไม่บำเพ็ญ จึงพลาด ทางควรไป
สิ้นร่างกาย รอใหม่ กี่หมื่นปี

     ปราชญ์เมธีทั้งหลาย โลกเรานี้เป็นเพียงสถานทางผ่านอยู่ได้ไม่นานเราก็จะต้องจากไป สังขารร่างกายของเราก็เช่นกัน หากไม่รีบใช้ประโยชน์บำเพ็ญเพื่อไปสู่ชีวิตที่เป็นอมตะแล้ว วันใดที่สูญสิ้นกายนี้ไป คิดหรือว่าอีกเืมื่อไรจะได้กายเช่นนี้อีก ขอจงกลับใจให้เห็นสัจธรรม จะได้พบความสุขอันแท้จริง

สองจะเตือน เมธา "อนิจจา" จงหลบ
โลกกามภพ ไม่คง จงอย่าหลง
หากวันใด ยมบาล ท่านเจาะจง
เรียกชีพปลง กายเนื้อ เหลือซากกลี

สุดที่รัก ห่วงหา มาด้วยไหม
ตัวต้องไป เดียวดาย ในเมืองผี
ลูกหญิงชาย ไม่อาจ ช่วยสักที
ตายแทนที่ มีแต่คร่ำ ร่ำไห้กัน

ดูทีหรือ สรรพสิ่ง ดั่งความฝัน
โลกวุ่นกัน ควรไหม ให้บอกขาน
ยากดีจน เบื้องบน ดลจัดการ
ส่วนสุขศานต์ เศร้าหมอง ของเราเอง

     ปราชญ์เมธีทั้งหลาย ให้หลบหนีสิ่งซึ่งเป็นอนิจจัง คือความไม่จีรังยั่งยืน ไม่อาจยึดเหนี่ยวไว้ได้ตลอดไป จงเร่งหาหนทางวิถีที่จะพาตนให้หลุดพ้นเถิด

สามขอเตือน บัณฑิต คิดเพียรธรรม
วิสุทธิอาจารย์ ติดตาม หนทางเร่ง
ความเป็นตาย ต่างช่วย ด้วยตนเอง
ใครหรือเก่ง ช่วยใคร ได้เสี้ยวคน

กุศลซื่อ บาปร้าย ใช่ใครผัน
ตนรู้ทัน ปรับใจ ได้เหมาะสม
จะดีชั่ว สุดท้าย สนองตน
หนีไม่พ้น นานไป ได้เห็นกัน

คนชั่วร้าย ตายลง ส่งขุมลึก
คนสำนึก รู้ธรรม คือสวรรค์
ดูทีหรือ เพีียรธรรม ดีกว่ากัน
ไม่หวาดหวั่น พญายม ไม่ปรานี

ท่องสัจจะ คาถา ศรัทธาถึง
ยามค่ำคืน ผีร้าย หลบหายหนี
เร่งเรียนรู้ แยบยล ฌาณจงดี
ช่วยน้องพี่ พร้อมกลับ กราบองค์ธรรม

     ปราชญ์บัณฑิตทั้งหลาย จงเร่งหาวิุสุทธิอาจารย์ เบิกชี้ให้เห็นธรรมญาณจิตแท้แห่งตน จิตแท้จะพาให้เห็นสัจธรรม นำไปสู่องค์ธรรมแดนนิพพาน

สี่เตือนให้ วิญญู รู้คนบุญ
ผู้สร้างคุณ ความดี มานานล้ำ
ชายมุ่งเลียน "เซียงจื่อ"* อรหันต์
หญิง "เมี่ยวซ่าน"*  เลียนจน พ้นโลกีย์

ตัดให้ขาด ชื่อลาภ รักลุ่มหลง
ใจมั่นคง บำเพ็ญ หนี่งเต็มที่
ชายอาจได้ อรหันต์ ในทันที
หญิงได้ดี บรรลุสู่ คู่ "กวนอิมฯ"

อรหันต์ เป็นไป จากชายคน
"องค์กวนอิม" ได้หลุดพ้น จากคนหญิง
อรหันต์ ไปจาก คนจริงจริง
ไม่เป็นจริง เพราะไม่ ใฝ่บำเพ็ญ

แต่โบราณ หญิงชาย มากมายมา
เป็นพุทธา อรหันต์ แล้วให้เห็น
อย่าย่ำยี ตัวต่ำ ทำกรรมเวร
มุ่งบำเพ็ญ ไม่หวั่น ผัันศรัทธา
................................................
หมายเหตุ เซียงจื่อ คือ ท่านหันต้าเซียน หนึ่งพระองค์ในกลุ่มแปดเซียน
                 เมี่ยวซ่าน คือ พระโพธิสัตว์กวนอิม 

     วิญญูชนผู้รู้ตื่นใจทั้งหลาย จงอย่าได้ประเิมินตนต่ำทราม ทุกคนมีโอกาสบรรลุธรรมชั้นสูงได้ทั้งนั้น การจะเป็นไปได้อยู่ที่ใจมั่นคงเป็นธงไชย
     พระอรหันต์(ต้าเซียน) "หันเซียงจื่อ" (หนึ่งในแปดเซียน) พระอวโลกิเตศวร "กวนอิมฯ" ล้วนเป็นแบบอย่างอันดีงาม

ห้าเตือนปราชญ์ เร่งสร้าง คุณธรรม
สุขเหลือล้ำ แม้นได้ ทางใหญ่แท้
อายุมาก บำเพ็ญ บุญปรกแผ่
หนุ่มสาวแน่ รุ่งเรือง บำเพ็ญดี

คนร่ำรวย บำเพ็ญ บุญยิ่งใหญ่
คนเข็ญใจ บำเพ็ญ เปลี่ยนราศี
คนมีลูก บำเพ็ญ ลูกจะดี
ส่วนคนที่ เดียวดาย ได้บุญนำ

คู่ผัวเมีย บำเพ็ญ คู่วาสนา
บุญต่างพา ส่งผล กุศลล้ำ
ต่างบรรลุ เพียบพร้อม คุณธรรม
ต่างหนุนนำ บุญญา ปรากฏกัน

สาธุชน ชายหญิง จงสำนึก
ผลผลึก โพธิญาณ คืนสวรรค์
ประทับบน ชั้นเก้า บัวบัลลังก์
เกษมสันต์ วิมุติ สุขกาลนาน

    ปราชญ์ทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า อาภรณ์ใดๆ ในโลกนี้ที่จะเหมาะเจาะงดงามสำหรับคนทุกเพศทุกวัน ทุกเมื่อทุกกาล ทุกฐานะพร้อมกันนั้นไม่มี
     บัดนี้วิถีอนุตตรธรรม บวชจิต บำเพ็ญได้ในครัวเรือนได้โปรดสู่ทุกผู้นาม เสมือนอาภรณ์อันงดงามประดับกายได้ทุกคนงามเหมาะสมทั้งครอบครัว จงภาวนาขอให้ได้รับไว้อย่าได้รั้งรอ



วันเสาร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ธรรมะนั้น เป็นสิ่งซึ่งมิอาจจากพรากแม้ชั่วขณะ จากพรากได้มิใช่ธรรมะ - 道也者,不可须臾离也。可离非道也。

ธรรมะนั้น เป็นสิ่งซึ่งมิอาจจากพรากแม้ชั่วขณะ จากพรากได้มิใช่ธรรมะ - 道也者,不可须臾离也。可离非道也。


"ธรรมะ" เมื่ออยู่กับสภาวะของมหาจักรวาลก็คือ "หลักสัจธรรม" ของการดำรงอยู่ของสิ่งต่างๆ ในมหาจักรวาล เช่น การดำรงอยู่ของตะวัน เดือน ดวงดาว ลมฟ้าอากาศ การดำรงอยู่ของสรรพสิ่งและการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ทดแทนกัน อันเป็นหลักเที่ยงแท้แน่นอน

"ธรรมะ" เมื่ออยู่กับคน นั่นคือ พลังงานวิเศษแยบยล เมื่อพลังงานวิเศษแยบยลนั้น อยู่กับกายเนื้อ กายเนื้อจึงเคลื่อนไหวได้ พัฒนาเจริญเติบโตได้

"ธรรมะ" เมื่ออยู่กับคน นั่นคือจิตญาณตัวรู้อันวิเศษแยบยล คนจึงมีความรู้สึกคิดต่างๆ ได้

"ธรรมะ" เมื่ออยู่กับคน นั่นคือคุณสมบัติสูงส่งดีงาม คนจึงมีจิตสำนึกรู้ผิดชอบชั่วดี มีเมตตากรุณาธรรม

"ธรรมะ" อันเป็นคุณสมบัติสูงส่งดีงาม แม้หากจากพรากไป ความชั่วร้ายจะครอบงำผู้นั้น

"ธรรมะ" อันเป็นพลังงานวิเศษ แม้หากจากพรากละทิ้งสังขารไป กายเนื้อที่เหลืออยู่ จะเป็นเพียงซากศพ

"ธรรมะ" อันเป็นจิตญาณ แม้หากพรากจากกาย จิตญาณไม่อยู่ควบคุมบงการสังขาร สังขารนั้นแม้จะมีลมหายใจ ก็เท่ากับตาย

ท่านบรมครูจอมปราชญ์ขงจื่อ ซึ่งเป็นครูผู้รู้ดีแล้วตั้งแต่ครั้งสองพันห้าร้อยกว่าปีก่อน จึงได้โปรดสั่งสอนศิษย์ทั้งสามพันคนของท่าน ให้หมั่นสำเหนียกความสำคัญยิ่งของ "ธรรมะ" ในตนอยู่เสมอว่า

"ธรรมะ" นั้นเป็นสิ่งซึ่งมิอาจจากพรากแม้ชั่วขณะ สิ่งอันจากพรากได้ มิใช่ "ธรรมะ"




วันศุกร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2556

อะไรเรียกว่า...หลักธรรมของความซื่อสัตย์ภักดีและโอบอ้อมอารีให้อภัย


อะไรเรียกว่าหลักธรรมของความซื่อสัตย์ภักดีและโอบอ้อมอารีให้อภัย

     ท่านจูจื่ออธิบายว่า "การทำสุดกำลังของตน เรียกว่าความซื่อสัตย์ภักดี การเอาใจเขามาใส่ใจเรา เรียกว่าความโอบอ้อมอารีให้อภัย"

     ดูจากตรงนี้แล้วไม่ว่าเรื่องใดทำอย่างสุดจิตสุดใจและใส่ใจ ก็เรียกว่า ซื่อสัตย์ภักดี ผู้ทรงคุณธรรมในอดีตกล่าวไว้ว่า "เสียงลม เสียงฝน เสียงอ่านหนังสือ ทุกเสียงก็ไพเราะหมด เรื่องครอบครัว เรื่องบ้านเมือง เรื่องทั่วหล้า ทุกเรื่องล้วนใส่ใจ" จึงกล่าวกันว่า "บ้านเมืองจะรุ่งเรืองหรือล่มสลาย ไม่ว่าใครก็มีหน้าที่รับผิดชอบ" 

     ในประัวัติศาสตร์ ท่านอีอิ่นก็คือแบบอย่างของผู้กล้าในการแบกรับ ปราชญ์เมิ่งจื่อจึงยกย่องท่านว่า "ท่านอีอิ่นเป็นหนึ่งในพระอริยะผู้มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่เป็นที่สุด"
     ในคัมภีร์เมิ่งจื่อ บันทึกไว้ว่า "ท่านอีอิ่นกล่าวไว้ว่า ฟ้ากำเนิดประชาราษฎร์ ให้ผู้รู้ก่อนชี้นำผู้มาทีหลังให้รู้ ให้ผู้ตื่นแจ้งก่อนชี้นำผู้มาทีหลังให้ตื่นแจ้ง เราคือผู้ตื่นแจ้งก่อนประชาราษฎร์ เราจะนำธรรมนี้มาชี้นำให้ประชาราษฎร์ตื่นแจ้งด้วย เมื่อท่านอีอิ่นนึกถึงประชาราษฎร์ ไม่ว่าจะชายหรือหญิง หากผู้ใดไม่ได้รับบารมีคุณจากอริยกษัตริย์เหยาและอริยกษัตริย์ซุ่น นั่นเหมือนดั่งตนเองผลักพวกเขาตกลงไปในคูน้ำ ท่านจึงขอแบกรับหน้าที่อันยิ่งใหญ่เพื่อคนทั่วหล้า"
     ในเวลานี้ผู้บำเพ็ญมากมาย หากไม่แบกรับหน้าที่อันยิ่งใหญ่ ก็จะถดถอยไม่ก้าวหน้า หรือไม่ก็เป็นทหารหนีทัพของอาณาจักรธรรม หากเป็นเช่นนี้จะทำให้บรรพชนได้รับความอับอายเป็นอย่างยิ่ง

     คำว่า "忠" (จง แปลว่า ความซื่อสัตย์ภักดี) มาจากคำว่า "中" (จง แปลว่า ความเป็นกลาง) และคำว่า "心" (ซิน แปลว่า ใจ) หมายถึง จิตหนึ่งใจเดียวไม่เอนเอียง
     ส่วนคำว่า "ซู่" (แปลว่า ความโอบอ้อมอารีให้อภัย) มาจากคำว่า "如" (หยู แปลว่า เหมือนดั่ง) และคำว่า "心" (ซิน แปลว่า ใจ) หมายถึงการเอาใจเขามาใส่ใจเรา เห็นใจกัน
     ดั่งนั้นคำว่า "จงซู่" แปลว่า ความซื่อสัตย์ภักดีและโอบอ้อมอารีให้อภัย จึงไม่ห่างจากคำว่า  "心" (ซิน แปลว่า ใจ)

     คัมภีร์เถาเอวี๋ยนหมิงเซิ่งจิงกล่าวไว้ว่า "เราเคยกล่าวไว้ว่า ตะวันอยู่บนฟ้า ใจอยู่ในตัวคน ใจเป็นรากฐานของทุกเรื่อง คุณธรรมสามัญห้าที่กล่าวอยู่ในศาสนาปราชญ์ พระรัตนตรัยที่กล่าวอยู่ในศาสนาพุทธ และสามสิ่งวิเศษที่กล่าวอยู่ในศาสนาเต๋า ล้วนสำแดงออกมาจากใจนี้" อาศัยความซื่อสัตย์ภักดีมาปกป้อง และดำเนินตามหลักธรรมฟ้า อาศัยความโอบอ้อมอารีให้อภัยมาปฏิบัติต่อผู้คน


  • ความซื่อสัตย์ภักดี หมายถึงการทัดทานด้วยความจริงใจ ส่วนความโอบอ้อมอารีให้อภัย หมายถึงการเป็นเลิศในการนำพา
  • ความซื่อสัตย์ภักดี คือการทำการใดๆ ด้วยใจเที่ยงตรงเสมอ ส่วนความโอบอ้อมอารีให้อภัย คือการอาศัยกุศโลบายมาโน้มนำผู้คน
  • ความซื่อสัตย์ภักดี คือจิตใจที่จงรักภักดีดั่งดวงตะวันที่เจิดจ้า ส่วนความโอบอ้อมอารีให้อภัย ดั่งแสงจันทราที่เมตตาและอ่อนโยน
  • ความซื่อสัตย์ภักดี คือการสำแดงจิตตนอย่างเต็มที่ ส่วนความโอบอ้อมอารีให้อภัยคือการทำให้คนทั้งหลายสำแดงจิตอย่างเต็มที่ และทำให้สรรพสิ่งสำแดงศักยภาพได้อย่างเต็มที่
  • ความซื่อสัตย์ภักดี คือความยุติธรรมเที่ยงธรรม ส่วนความโอบอ้อมอารีให้อภัย คือความเมตตาการุณย์
  • ความซื่อสัตย์ภักดี เป็นสภาวะหยัง อันแข็งแกร่ง ส่วนความโอบอ้อมอารีให้อภัย เป็นสภาวะอิน อันอ่อนโยน หากผู้ใดมีความซื่อสัตย์ภักดีจะเป็นที่น่าเคารพยำเกรง หากผู้ใดมีความโอบอ้อมอารีใ้ห้อภัย ไม่ว่าใครเข้าใกล้ก็รู้สึกอบอุ่นใจ
  • ความซื่อสัตย์ภักดีเป็นวิธีการที่ถูกต้อง ส่วนความโอบอ้อมอารีให้อภัยเป็นความกลมกลืนทุกทิศทาง

     ความหมายของความซื่อสัตย์ภักดีและความโอบอ้อมอาีรีให้อภัยนั้นมีมากมายนักกล่าวให้ลึกซึ้งอีกระดับได้ว่า...เมื่อใจดำรงอยู่ในความเป็นกลางได้ นั่นก็คือความซื่อสัตย์ภักดี เมื่อใจสำรวมเป็นหนึ่งไ้ด้ นั่นก็คือ ความโอบอ้อมอารีให้อภัย เมื่อสำแดงความซื่อสัตย์ภักดีได้ถึงที่สุด ฟ้าและคนก็เป็นหนึ่งเดียวกัน เมื่อสำแดงความโอบอ้อมอารีให้อภัยได้ถึงที่สุด ก็จะไร้ซึ่งความยึดติดในอัตตาและบุคคล

ความซื่อสัตย์ภักดี คือสภาวะเดิม ส่วนความโอบอ้อมอารีให้อภัย คือการสำแดงศักยภาพ
ความซื่อสัตย์ภักดี คือการทำให้ตนเองรู้ตื่น ส่วนความโอบอ้อมอารีให้อภัย คือการทำให้ผู้อื่นรู้ตื่นด้วย
ความซื่อสัตย์ภักดี เป็นการเทิดทูนคุณธรรม ส่วนความโอบอ้อมอาีรีให้อภัย เป็นการตอบแทนพระคุณ

     หลักธรรมของความซื่อสัตย์ภักดี และความโอบอ้อมอารีให้อภัย ครอบคลุมอย่างกว้างขวาง หากสามารถหลอมรวมหลักธรรมของความซื่อสัตย์ภักดีและความโอบอ้อมอารีให้อภัยให้เป็นหนึ่งเดียวกันได้ อีกทั้งถ่องแท้ใน "หนึ่ง" นี้ ก็จะสามารถอาศัย "หนึ่ง" มารู้แจ้งแทงตลอดได้ "หนึ่ง" ก็คือทุกสิ่ง และทุกสิ่งก็คือ "หนึ่ง" จึงกล่าวว่า เมื่อได้รับหนึ่ง ทุกสิ่งก็เพียบพร้อมสมบูรณ์

     แท้ที่จริงหลักธรรมของความซื่อสัตย์ภักดี และความโอบอ้อมอารีให้อภัย ก็มาจาก "หนึ่ง" ยามนิ่งสงบก็ฉุดช่วยตน เพื่อคือสู่ความซื่อสัตย์ภักดี ยามเคลื่อนขยับก็ฉุดช่วยผู้คน เพื่อคืนสู่ความโอบอ้อมอารีให้อภัย

     มีอยู่ครั้งหนึ่ง ปราชญ์จื่อก้งเคยเีรียนถามบรมครูขงจื่อว่า..."มีคำพูดใดบ้างที่สามารถนำมาใช้ดำเนินได้ตลอดชีวิตหรือไม่?" บรมครูขงจื่อตอบว่า "น่าจะเป็น ความซื่อสัตย์ภักดีกระมัง! สิ่งที่ตนไม่ต้องการ ก็อย่าเอาไปให้คนอื่น"

     จึงกล่าวว่า "แผนภูมิเซียนกว้าให้คัมภีร์อี้จิงล้วนเป็นมงคลทั้งสิ้น คำว่าโอบอ้อมอารีให้อภัย สามารถนำไปใช้ได้ตลอดชีวิต" นี่คือแนวทางที่จะฟื้นฟูคืนสู่จิตเดิมแท้

...............................................................................................................................................................................................

ย้อนอ่านบทความก่อนหน้า "ธรรมแห่งเรานั้นอาศัยหนึ่งแจ้งแทงตลอด - บรมครูจอมปราชญ์ขงจื่อ"



วันอังคารที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2556

"เมื่อโลกเบิกฟ้าสว่างแจ้ง ก็ได้กำหนดทศพุทธปกครองแพร่คำสอน" - คัมภีร์อิ้งเจี๋ยจิง


คัมภีร์อิ้งเจี๋ยจิง จารึกไว้ว่า...
"เมื่อโลกเบิกฟ้าสว่างแจ้ง ก็ได้กำหนดทศพุทธ(พระพุทธเจ้าสิบพระองค์) ปกครองแพร่คำสอน"

(พระพุทธเจ้าเจ็ดพระองค์แรก ทรงทำหน้าที่ปกครองพัฒนาจิตใจชาวโลก สามพระองค์สุดท้ายเก็บงานฯ เก็บธรรมญาณที่บำเพ็ญสมบูรณ์แล้ว)

ก่อนกำเนิดโลก ในมหาจักรวาลปรากฏกลุ่มหมอกควันเป็นธาตุคละเคล้ารวมตัวเป็นกลุ่มใหญ่ ไม่มีเสียง ไม่มีกลิ่น ไม่มีนามใดให้เรียกขาน

ต่อมาธาตุคละเคล้านั้นก็กระจายแยกตัวออกจากกัน จึงเริ่มมีฟ้าดินอย่างชัดเจน
(กำเนิดกาลของโลกแต่ละระยะ อาศัยสิบสองนักษัตรเป็นเครื่องหมายในการนับ)

เริ่มกำหนดกาลชวด บรรยากาศภายนอกที่ห่อหุ้มธาตุคละเคล้ากลุ่มใหญ่นั้นเริ่มกระจาย เรียกว่า "เบิกฟ้า"

กำหนดกาลที่สองคือฉลู เริ่มก่อเกิดพื้นฐานความมั่นคงของ "แผ่นดิน"

กำหนดกาลที่สามคือขาล เป็นกำหนดกาล "กำเนิดมนุษย์"

คนเดิมจึงได้ลงมาในโลก ปลูกฝังรากฐานมนุษยชาติ
ครั้งนั้น มนุษย์เป็นเพียงสัตว์โลกชาวป่าโง่เขลา ไม่แตกต่างจากสัตว์ ไม่อาจปกครองโลก มีคนจึงเหมือนไม่มีคน โลกจึงไม่เป็นโลก

จนกระทั่งกำหนดกาลที่สี่คือ เถาะ เบื้องบนจึงส่งพุทธบุตรลงมาปกครองโลก

  • ปฐมพุทธา อุบัติมายังทิศทักษิณ (ใต้) พระนามว่า ชื่อไอ้ฝอ ปกครองธรรมกาลอยู่หกพันปี
  • ทุติยพุทธา อุบัติมายังทิศอุดร (เหนือ) พระนามว่า เซิงอวี้จื่อ ปกครองธรรมกาลอยู่สี่พันแปดร้อยปี
  • ตติยพุทธา อุบัติมายังทิศบูรพา (ตะวันออก) พระนามว่า เจี่ยซันซุน ปกครองธรรมกาลอยู่สามพันเจ็ดร้อยยี่สิบปี
  • จตุพุทธา อุบัติมายังทิศประจิม (ตะวันตก) พระนามว่า อิ่วจั่งเกิง ปกครองธรรมกาลอยู่เจ็ดพันแปดสิบปี
  • เบญจพุทธา อุบัติมายังทิศพายัพ (ตะวันตกเฉียงเหนือ) พระนามว่า คงกู่เิสิน ปกครองธรรมกาลอยู่ห้าพันสองร้อยแปดสิบสี่ปี
  • ฉพุทธา อุบัติมายังทิศอาคเนย์ (ตะวันออกเฉียงใต้) พระนามว่า หลงเอี่ยซื่อ ปกครองธรรมกาลอยู่ห้าพันห้าร้อยสิบหกปี
  • สัตตพุทธา อุบัติมายังทิศอีสาน (ตะวันออกเฉียงเหนือ) พระนามว่า จี้เทียนฝอ ปกครองธรรมกาลอยู่ห้าพันแปดร้อยปี
หลังจากเจ็ดพระพุทธาแล้ว สามพระพุทธามาเก็บงาน
  • พระทีปังกรพุทธเจ้า อัฐมพุทธา หยานเติงกู่ฝอ สนองวาระในธรรมกาลยุคเขียว เป็นธรรมกาลแรกที่เริ่มเก็บงาน เปิดงานชุมนุมพระอริยะสระโบกขรณี (สระบัว) (เหยียนฉือ) ปกครองธรรมกาลอยู่หนึ่งพันห้าร้อยปี
  • พระศากยพุทธเจ้า นวมพุทธา ซึเจียเม่าหนี สนองวาระในธรรมกาลยุคแดง เก็บงานในธรรมกาลที่สอง เปิดงานชุมนุมพระอริยะคิชฌกูฎ (หลิงซัน) ปกครองธรรมกาลอยู่สามพันปี
  • บรรพพุทธาเมตเตยยะ ทศมพุทธา หมีเล่อกู่ฝอ สนองวาระในธรรมกาลยุคขาว เก็บงานในธรรมกาลที่สาม เปิดชุมนุมพระอริยะนาคะภัทรประทีป (หลงฮว่า) ปกครองธรรมกาลอยู่หนึ่งหมื่นแปดร้อยปี 
เมื่อถึงกำหนดกาลมะแม ก็สิ้นสุดวาระปกครองโลกครบถ้วน
กำหนดกาลวอก เก็บญาณเดิมกลับคืนไป
กำหนดกาลระกา มนุษย์โลกคืนสู่ความว่างเปล่า
จนถึงกำหนดกาลกุน โลกจักรวาลกลับคืนสภาพ เป็นธาตุคละเคล้าอลวน

ครบรอบกำหนดโคจรในหนึ่งธรรมกาล (หนึ่งแสนสองหมื่นเก้าพันหกร้อยปี)

ขณะนี้ เป็นกำหนดกาลมะเมียคาบเกี่ยวมะแม
พระศากยพุทธเจ้านวมพุทธา เข้าสู่ปรินิพพานแล้ว
วิถีธรรมยุคสุดท้ายกำลังถ่ายทอดสู่ชาวโลก

     ด้วยเหตุที่ชาวโลกมิได้รับสัทธรรมนำพา อีกทั้งใจคนเสื่อมทรามลงทุกวัน คุณธรรมสูญสิ้น ปรากฏความวุ่นวายให้เห็นมาช้านาน พุทธาลัยนี้จึงสนองพระโองการเบื้องบน เหล่าเทพพรหมก็ขะมักเขม้นวุ่นกันทั้งวันทั้งคืน เพื่อเตรียมงานที่ทศมพุทธาบรรพพุทธาเมตเตยยะ จะเสวยอายุกัปในกำหนดกาลสุดท้ายนี้เป็นการลุล่วงพระภาระศักดิ์สิทธิ์ในการปกครองโลก เสร็จสิ้นตามกำหนดครบถ้วนสิบพระพุทธาบริบูรณ์ 

ทุกมรรควิถี ไม่มีธาตุแท้จิตภาวะตน และล้วนคืนสู่ความว่างเปล่า

                                                           
ใน คัมภีร์วัชรญาณสูตร 金剛經 (จินกังจิง) จารึกไว้ว่า "ผู้ใดเห็นเราด้วยรูป วอนเราด้วยเสียง ผู้นั้นดำเนินมิจฉาวิถี มิเห็นด้วยตถาคต"

ใน ศูรางคมสูตร 楞嚴經 (เหลิงเอี๋ยนจิง) จารึกไว้ว่า "ใดใดที่วาจาว่าไว้ ล้วนมิใช่ความหมายตัวแท้"

ใน คัมภีร์คุณธรรม 道德 (เต้าเต๋อจิง) จารึกต้นบทว่า "ที่กล่าวอ้างได้มิใช่ธรรมะ ที่กล่าวนามได้มิใช่นามจริง"

ใน คัมภีร์ทางสายกลาง  (จง-อยง) ก็จารึกไว้ว่า "รูปเสียงอันสามารถแปรเปลี่ยนใจคนได้ นั่นคือปลายเหตุ ธรรมะซึ่งฟ้าค้ำจุนไว้ ปราศจากเสียง ปราศจากกลิ่น เป็นที่สุดแห่งรูปนามทั้งปวง" 

     รวมความจากพระธรรมคัมภีร์ทั้งสามศาสนา ล้วนแต่ชี้ให้ชาวโลกรู้ว่าวาจาหรืออักขระใดๆ ล้วนเป็นเพียงสัญลักษณ์ เครื่องหมาย เป็นสื่อให้เท่านั้น หาใช่ธาตุแท้ไม่

จึงทำความเข้าใจได้ว่า "ทุกมรรควิถี ไม่มีธาตุแท้จิตภาวะตน และล้วนคืนสู่ความว่างเปล่า"





วันอาทิตย์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ญาณเดิมเคยงดงาม เปี่ยมด้วยแรงพลังธรรมบริสุทธิ์ - ท่านเหอเซียนกู - หนึ่งในแปดเซียน (何大仙)




                                                                                ญาณเดิมเคยงดงามแพรวพราวแสง
                                                                       เปี่ยมด้วยแรงพลังธรรมบริสุทธิ์
                                                                       คุณธรรมแฝงเร้นกลางใจวิมุติ
                                                                       รับหนึ่งจุึดฟื้นญาณหม่นให้งดงาม

                                                                               คุณธรรมห้างดงามแสดงแจ้ง
                                                                       มิเร้นแฝงกลางญาณภูผาล้ำ
                                                                       วิสุทธิ์ชี้เปิดจุดเบิกดวงธรรม
                                                                       ใจน้อมนำฝึกตามรอยพุทธา

                                                                              หนึ่งเคารพอ่อนน้อมย่อมผ่อนปรน
                                                                       บุตรทุกคนญาณเดิมร่วมมารดร
                                                                       โลกสงบด้วยเคารพซึ่งกันก่อน
                                                                       คำปราชญ์สอนชี้นำพ้นเภทภัย

                                                                             สองพึงรู้ให้อภัยในดวงจิต
                                                                       ผู้อื่นผิดผ่อนปรนใจเมตตา
                                                                       หากตนผิดเข้มงวดแก้ไขหนา
                                                                       ในจิตราดุจดั่งองค์พระศรีอาริย์

                                                                            สามสัจวาจาน่าเชื่อถือ
                                                                       คำพูดคือนายตนเมื่อกล่าวไป
                                                                       โลกจะอยู่ร่มเย็นเป็นสุขไซร้
                                                                       กล่าวคำใดศักดิ์สิทธิ์แลเที่ยงตรง

                                                                            สี่ขยันหมั่นเพียรมิเกียจคร้าน
                                                                      บำเพ็ญทานบุญสร้างมิวอนขอ
                                                                      เก็บสะสมเล็กน้อยค่อยค่อยก่อ
                                                                      ดอกผลบานชูช่อในเบื้องปลาย

                                                                           ห้าช่วยเหลือผู้อื่นเป็นสุขล้ำ
                                                                      เร่งกระทำด้วยจริงใจมิเสแสร้ง
                                                                      เมื่อพบเจอปัญหาผลแสดง
                                                                      คนดีแฝงหนุนนำเสริมส่งตาม

                                                                          ห้าคุณธรรมงดงามหมั่นฝึกฝน
                                                                      บำเพ็ญตนสร้างเสริมญาณเดิมใส
                                                                      โลกบังเกิดร่มเย็นเป็นสุขใส
                                                                      ด้วยตั้งใจฝึกตามสำเร็จเอย




















วันเสาร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ธรรมแห่งเรานั้นอาศัยหนึ่งแจ้งแทงตลอด - บรมครูจอมปราชญ์ขงจื่อ




ธรรมแห่งเรานั้นอาศัยหนึ่งแจ้งแทงตลอด - บรมครูจอมปราชญ์ขงจื่อ


     มีอยู่วันหนึ่ง บรมครูขงจื่อแสดงปริศนาธรรมกับปราชญ์เจิงจื่อและเหล่าสานุศิษย์ โดยกล่าวว่า "เซินเอ๋ย! ธรรมะแห่งเรานั้นอาศัยหนึ่งแจ้งแทงตลอด" ปราชญ์เจิงจื่อตอบทันทีว่า "ครับ ! "
     จากนั้นบรมครูขงจื่อก็เดินออกไป ทำให้ศิษย์คนอื่นๆเกิดความฉงนสนเท่ห์ จึงถามด้วยความสงสัยว่า "ที่อาจารย์พูดนั้นหมายความว่าอะไรหรือ?" ปราชญ์เจิงจื่อตอบว่า "หลักธรรมของอาจารย์นั้น มีเพียงความซื่อสัตย์ภักดีและความโอบอ้อมอารีให้อภัยเท่านั้นเอง !"

     การแสดงปริศนาธรรมนี้ทำให้คนมากมายไม่อาจเข้าใจได้ คนรุ่นหลังจึงกล่าวกันว่าในยามนั้นปราชญ์เจิงจื่อตอบเพียง "ครับ" จึงทำให้ชาวโลกมากมายเกิดความเข้าใจผิด เหตุใดปราชญ์เจิงจื่อจึงไม่กล่าวอย่างชัดเจน? ในคำว่า "ครับ" นี้ แท้จริงแล้วปราชญ์เจิงจื่อได้รู้แจ้งสิ่งใด? ใช่หรือไม่ว่าเป็นเพราะ "ในท่ามกลางนั้นแฝงความนัยอยู่ อยากจะกล่าวแต่มิรู้ว่าจะพูดอย่างไร?"
     เหมือนกับในวัชรสูตรที่ท่านสุภูติกล่าวว่า "สาธุ ! พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์มีความปรารถนาและยินดีเป็นยิ่งนัก ที่จะขอสดับคำชี้แนะจากพระองค์" แท้จริงแล้วก็คือ "ความรู้แจ้งในสิ่งเีดียวกัน" การสื่อจิตประทับจิตเช่นนี้ หากมิใช่ผู้กระจ่างจิตแจ้งธรรมญาณก็ไม่อาจเข้าถึงได้
     มิน่าเล่าบรมครูขงจื่อจึงบอกกับปราชญ์เอี๋ยนหุยผู้เป็นศิษย์เอกว่า "หากมีคนเรียกใช้เรา เราก็ไปปฏิบัติหน้าที่ หากไม่มีก็บำเพ็ญตน ผู้ที่ทำได้เช่นนี้ มีเพียงอาจารย์กัับเจ้าเท่านั้นที่ทำได้" (ขยายความได้อีกว่า ยามปฏิบัติงานใดๆก็ดำเนินตามจิตญาณนี้ ยามว่างก็สำรวมจิตไว้ ผู้ที่รู้วิถีจิตนี้มีเพียงอาจารย์กับเจ้าเท่าันั้น) ปราชญ์จื่อลู่แม้ว่าจะเป็นศิษย์ของบรมครูขงจื่อ แต่ก็ยังเข้าไม่ถึงแก่นธรรม จึงไม่อาจเข้าใจคำพูดนั้นๆได้เช่นกัน

     บรมครูขงจื่อถามปราชญ์จื่อก้งว่า "เจ้าคิดว่าอาจารย์ได้ศึกษาเรียนรู้อย่างกว้างขวาง แล้วจดจำได้หมดใช่ไหม?" เพราะปราชญ์จื่อก้งยังยิดติดกับการรู้การเห็น จึงตอบไปว่า "ใช่ครับ ! มิใช่อย่างนั้นหรอกหรือ ?" แท้จริงแล้วในจิตใจยังลังเลสงสัยอยู่
     บรมครูขงจื่ออธิบายว่า "ไม่ใช่หรอก ! ธรรมแห่งเรานั้นอาศัยหนึ่งแจ้งแทงตลอด" แต่ทว่าปราชญ์จื่อก้งจะเข้าใจอย่างแท้จริงหรือไม่? ปราชญ์จื่อก้งเคยกว่าวว่า "วิชาความรู้ของบรมครูขงจื่อนั้น รับและสดับได้ แต่วิถีจิตและหลักธรรมฟ้าที่บรมครูขงจื่อกล่าวถึงนั้น มิอาจรับและสดับได้" จะเห็นได้ว่า "วิถีจิตและหลักธรรมฟ้า" ตั้งแต่อดีตนั้นยากที่จะสดับและเข้าใจได้ แม้ว่าคนมากมายได้พบพานแต่ก็ไม่อาจกระจ่างแจ้งได้ เหมือนกับบทกลอนของท่านหันซี่ที่กล่าวไว้ว่า "ไม่รู็จักแก้ววิเศษอันล้ำค่าของจิตตน ก็ไม่ต่างอะไรกับปล่อยให้ลาบอดเดินไปเองอย่างไร้จุดหมาย" ก็จะใช้ชีวิตอย่างยุ่ง บอด เคว้ง นั่นมิใช่เรื่องที่น่าเสียดายหรอกหรือ ?

     มีบางคนแม้จะบำเพ็ญพุทธธรรม แต่กลับไม่ยอมแสวงหาธรรมวิถีแห่งการหลุดพ้นจากพระวิสุทธิอาจารย์ มุ่งบำเพ็ญแต่ยานระดับล่าง นั่นก็ไม่ต่างอะไรกับ "เข้าไปนับเม็ดทรายในทะเล มีแต่ทำให้ตนเองเหนื่อยเปล่า"
     ในเจิ้งเต้าเกอ (บทสดุดีของการประจักษ์แจ้งธรรม) ของพระเถระหย่งเจียกล่าวไว้ว่า "มุ่งตรงสู่รากต้นกำเนิดที่พุทธะประทับให้ หากเสาะแสวงหาตามกิ่งก้านใบนั้นมิอาจพบได้" เพราะว่า "การแสวงหาพุทธธรรมโดยห่างจากจิต จักเข้าสู่ทางผิดเพี้ยน" แล้วเหตุใดจึงต้องไปทุ่มเทผิดทาง ต่อให้บำเพ็ญจนแก่ตายก็ไม่อาจสำเร็จได้ นี่ไม่ใช่เป็นเรื่องที่น่าเสียดายหรอกหรือ ?

     คำพูดที่ว่า "เซินเอ๋ย" ที่บรมครูเรียกนั้น คนทั่วไปอ่านแล้วกลับไม่รู้ว่า คำพูดนี้มีประโยชน์เหมือนดั่งการปลุกจิตให้ตื่น ทำให้ปราชญ์เจิงจื่อสำรวมจิตตั้งใจฟัง นี่ก็เฉกเช่นเดียวกับในอดีตที่พระเถระอู๋เย่ถามพระเถระหม่าจู่ว่า "อะไรคือวิถีจิตที่พระบรรจารย์รับสืบทอดกันอย่างลับๆ จากชมพูทวีป" พระเถระหม่าจู่ตอบว่า "เอาไว้ค่อยถาม !" พระเถระอู๋เย่กำลังเดินออกไป พระเถระหม่าจู่ก็ตะโกนเรียก "พระคุณเจ้า" เมื่อพระเถระอู๋เย่ได้ยินก็หันหลังกลับมา พระเถระหม่าจู่ถามต่อว่า "คืออะไร?" พระเถระอู๋เย่ก็ตื่นแจ้งในทันที

     คำพูดที่บรมครูขงจื่อกล่าวว่า "ธรรมแห่งเรานั้นอาศัยหนึ่งแจ้งแทงตลอด" ปราชญ์เจิงจื่อก็กระจ่างแจ้งความนัยทันที แต่ทว่า "หนึ่ง" นั้นคืออะไร? หนึ่งนั้นไม่สามารถคาดคิดถึงได้ ไม่อาจแบ่งออกได้ หากฝืนอธิบายก็อยู่เพียงแค่การรู้การเห็นเท่านั้น แต่ในการที่ไม่อาจอธิบายหรือกล่าวได้นั้น ก็ฝืนเรียกไปว่าจิตเดิม แต่ทว่า "ไม่กระจ่างแจ้งจิตเดิม ศึกษาธรรมวิถีใดก็ไร้ประโยชน์"
     ท่านเหลาจื่อกล่าวไว้ในคัมภีร์เต้าเต๋อจิงว่า "นับตั้งแต่โบราณกาลมา มหาธรรมนั้นบริสุทธิ์ไร้การปรุงแต่ง มีเพียงหนึ่งเดียว ดังนั้นธรรมะจึงเรียกได้อีกว่า "หนึ่ง" และก็คือจิตญาณของคนเรา

เมื่อฟ้าได้ัรับ "หนึ่ง" ก็จะสว่างไสวเรืองรอง
เมื่อแผ่นดินได้รับ "หนึ่ง" ก็จะนิ่งสงบ
เมื่อเทพเทวาได้รับ "หนึ่ง" ก็จะศักดิ์สิทธิ์
เมื่อคนได้รับ "หนึ่ง" ก็จะวิสุทธิ์สงบกระจ่างแจ้งธรรม
เมื่อหุบเขาได้รับ "หนึ่ง" ก็จะอุดมสมบูรณ์
เมื่อสรรพสิ่งได้รับ "หนึ่ง" ก็จะก่อเกิดและเติบโต
เมื่อกษัตริย์ได้ัรับ "หนึ่ง" ก็จะเที่ยงตรง บ้านเมืองมั่นคงสุขสงบ

     ฟ้าดินและสรรพสิ่งทั้งปวงก่อเกิดจนสมบูรณ์ได้ก็ด้วย "หนึ่ง" ความสำคัญของการได้รับ "หนึ่ง" นั้น เห็นได้จากที่กล่าวมานี้ ปราชญ์เอี๋ยนหุยคือ "พระอริยะที่เมื่อได้ัรับ หนึ่ง ก็กระจ่างทั้งหมดทั้งมวลได้"

     หลังจากที่ปราชญ์เจิงจื่อได้กระจ่างแจ้งความนัยแล้ว ก็ตอบคำถามของศิษย์ีพี่ศิษย์น้องทั้งหลายว่า "หลักธรรมของอาจารย์มีเพียงความซื่อสัตย์ภักดี และความโอบอ้อมอารีให้อภัยเท่านั้นเอง !"
     แต่ในคัมภีร์จง-หยง(คัมภีร์ทางสายกลาง)กลับกล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า "เมื่อมีความซื่อสัตย์ภักดีและโอบอ้อมอารีให้อภัย นั่นก็ห่างจากธรรมไม่ไกลแล้ว !" จะเห็นได้ว่าความซื่อสัตย์ภักดีและความโอบอ้อมอารีให้อภัยนั้นมิใช่สภาวะเดิมแห่งธรรม แต่ก็ใกล้กับธรรมแล้ว

..........................................................................................................................................................................................

(บทความต่อไป)...อะไรเรียกว่าหลักธรรมของความซื่อสัตย์ภักดีและโอบอ้อมอารีให้อภัย


วันศุกร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ท่ามกลางดงไผ่ให้มองรู้เห็นตน - พระโพธิสัตว์กวนอิม ( 觀世音菩薩 )

พระโพธิสัตว์กวนอิม ( 觀世音菩薩 )

พระโพธิสัตว์กวนอิม ( 觀世音菩薩 )


                                                                     ท่ามกลางดงไผ่ให้มองรู้เห็นตน 
                                                          แยบยลคือคนโทน้ำใสใส่กิ่งหยาง 
                                                          พระโพธสัตว์ประทับอยู่ท่ามกลาง 
                                                          ไม่เคยห่างแน่ชัดสัจธรรม


วันพุธที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

การบำเพ็ญธรรม - พระโอวาทสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หลันไฉ่เหอต้าเซียน(หนึ่งในแปดเซียน) 藍采和大仙



การศึกษาธรรม คือ การรู้จักพอในสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ อย่าปล่อยให้ชีวิตขึ้นอยู่กับการแสวงหา อย่าปล่อยให้ชีวิตนี้มีความสุขในการมี

การบำเพ็ญธรรม คือ การรู้จักดำเนินชีวิต ให้เข้าใจชีวิตมากกว่าการมีและไร้ มากกว่าความสุขและทุกข์ เป็นการบำเพ็ญธรรมที่เหนือ สุข ทุกข์ มี ไร้ ได้ เสีย พอเข้าใจไหม? นั่นคือการบำเพ็ญตนอยู่ท่ามกลางมีสุขมีทุกข์ แต่เราไม่รู้สึกทั้งทุกข์และสุข

เรามีจิตใจที่บำเพ็ญตนแล้วอยู่เหนือสภาวะตรงกันข้าม หรืออยู่เหนือสภาวะที่เป็นคู่(ทวิภาวะ) เข้าใจไหม เริ่มไม่เข้าใจแล้ว ไช่ไหม ?

การบำเพ็ญธรรม คือ การศึกษาสิ่งที่อยู่เหนือสุข และทุกข์ 
คือศึกษาความเป็นจริงแห่งชีวิต และค่าแห่งชีวิตที่อยู่เหนือกว่าสุข และทุกข์
มีใครเข้าใจขึ้นอีกบ้าง ยังงงอยู่ ใช่หรือไม่ ?

งั้นเราพูดง่ายเข้าไปอีก มนุษย์เรามักจะกำหนดว่าชีวิตของเราเกิดมาคือ มีเงินทอง มีชื่อเสียง มีครอบครัวที่ร่มเย็นเป็นสุข เท่านี้คือชีวิต

แต่เมื่อไรที่เราเปิดตำราศึกษาความเป็นพุทธะ เราจะได้รู้ว่า ทิ้งเงินทอง ทิ้งชื่อเสียง ทิ้งครอบครัว คือการได้เดินไปสู่ความเป็นพุทธะ แล้วค้นหาความเป็นพุทธะ แต่มนุษย์เราบอกว่า...ทำไม่ได้

หลายต่อหลายคนมักจะติดอยู่แค่ วังวนแห่งทุกข์ สุข มี ไร้ ได้ เสีย ไม่ยอมก้าวออกมา เพราะคิดแค่เพียงว่าทำไม่ได้ ใช่หรือไม่ ?
     แต่ถามจริงๆ วันนี้ท่านทำได้อย่างหนึ่งคือ ยอมไม่แสวงหาทางโลก แต่มาแสวงหาทางธรรม ยอมไม่ไปสะสมทางโลกแต่มาสะสมคุณธรรม ยอมปล่อยวางเรื่องทางบ้านแต่มาเพียรหาทางธรรม ทำได้ไหม ? วันนี้ทำได้แล้ว จริงหรือไม่ ?

แต่การบำเพ็ญธรรมไม่ใช่ให้ทิ้งหมด แต่การรู้จักพอ รู้จักปลง และเอาเวลาที่พอ เวลาที่ปลงนั้น มาเพียรหาความเป็นพุทธะในตัวตน แค่นี้เองคือการบำเพ็ญความเป็นพุทธะ ท่ามกลางสังคม และอยู่ในครอบครัว ใช่หรือไม่ ?

นั่นคือจิตใจที่ไม่ยึดติดสิ่งของใดๆ สรุปไม่ยึดติดอะไรในโลกนี้ แม้แต่ตนเอง

เฉกเช่นปราชญ์โบราณกว่าวไว้ว่า "ไม่มีต้นโพธิ์ ไม่มีกระจก แล้วฝุ่นจะเกาะอะไร" เมื่อไม่มีกายไม่มีตนแล้ว กิเลสจะมาจากไหน แล้วทุกข์จะเกาะอะไร

นั่นก็คือ ให้เรารู้จักปล่อยวางเรื่องราวในโลกนี้ ปล่อยวางตัวตนเอง