วันอาทิตย์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2556
มหาสัทธรรมนั้นเสมอภาค - พระพุทธจี้กง เมตตา
พระพุทธจี้กง เมตตา
"ชาวโลก ไม่ว่าจะบำเพ็ญเต๋า หรือนับถือพุทธ ขอเพียงแต่ให้ค้นคว้าถึงสัทธรรมแท้ๆ ในพระธรรม ให้เข้าใจถึงความคิดของเต๋า จิตแรกแห่งพุทธะ และรากเหง้าแห่งปราชญ์ ทั้งสามศาสนาย่อมมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน ต่างก็ช่วยกันขจัดความทุกข์กังวลให้แก่มวลมนุษยชาติ เพื่อให้จิตอิ่มเอิบด้วยความปีติยินดี หากท่านไม่อาจบรรลุถึงผลระดับนี้ ก็เกรงว่าท่านจะอยู่ห่างไกลจาก "เส้นทางอริยะ" เสียแล้ว อาตมาจะเล่าเรื่องหนึ่งเป็นตัวอย่าง
มีหมู่บ้านแห่งหนึ่งในศาลเจ้าเล็กๆ หลักหนึ่ง ภายในมีรูปพระศาสดาของทั้งสามศาสนาตั้งอยู่ บังเอิญมีศิษย์ขงจื้อผ่านเข้ามายังศาลเจ้านี้ มองเห็นรูปของบรมครูจอมปราชญ์ขงจื้อตั้งอยู่ทางขวามือ เกิดจิตไม่สบายใจ จึงพูดกับตนเองว่า "ท่านขงจื้อมีหลักธรรม เผยแผ่มาจนถึงทุกวันนี้ บุญบารมีคู่ฟ้าดิน จะนั่งอยู่ข้างๆ ได้อย่างไรกัน" พูดจบก็อัญเชิญพระพุทธรูปย้ายไปไว้ทางขวามือ แล้วยกพระรูปท่านขงจื้อมาตั้งไว้ตรงกลาง
ต่อมาไม่นานนักก็มีศิษย์เต๋าผู้หนึ่งผ่านเข้ามา ไม่เห็นพระรูปท่านเหลาจื่อ ตั้งอยู่ตรงกลางแท่น แต่กลับอยู่ทางซ้าย ใจก็ไม่ค่อยจะสบาย ก็พูดขึ้นว่า "พระธรรมแห่งเล่าจื้อคลุมไปทั่วโลก ฉันเป็นศิษย์แห่งเต๋า จะนั่งดูดายไม่สนใจได้อย่างไร จะเป็นการเสื่อมศักดิ์ศรีแห่งเต๋าไป" และแล้วก็ย้ายรูปท่านเหลาจื่อมาไว้ตรงกลางแท่นบูชา
เมื่อท่านเต๋าหยินผ่านไปแล้ว ก็มีพระภิกษุรูปหนึ่งเข้ามาภายในศาลเจ้า เห็นเข้าก็ตกใจกลัว กล่าวว่า "พระพุทธเจ้าข้าเอย อิทธิฤทธิ์กว้างใหญ่ไพศาล ทำไมมาประทับอยู่ทางขวาเล่า ความอัครฐานแล้วก็ต้องอยู่ตรงกลางถึงจะถูก" ก็เลยเลื่อนพระพุทธรูปยูไลสัมมาสัมพุทธเจ้ามาไว้เสียตรงกลาง
เรื่องเป็นอย่างนี้ เอาพระภูมิแห่งศาสดาทั้งสามมายื้อแย่งแบบนี้ ดูไม่สมควร
จากเรื่องที่เล่ามา สามารถเห็นได้ว่ามหาสัทธรรมนั้นเสมอภาค พระแท้ย่อมไม่แก่งแย่ง โดยทั่วไปก็มักพบว่าตามศาลเจ้ามักมีรูปองค์พระศาสดาทั้งสามเรียงกันอยู่ เกื้อหนุนกันอยู่ ยังไม่เคยพบว่าท่านทั้งสามเกิดการทะเลาะเบาะแว้งหรือทำเรื่องที่ไม่ดีงาม ถ้าหากยังมีใจแบ่งแยกเป็นพรรคเป็นพวกนับเป็นการกระทำของปุถุชน
หวังว่าชาวโลกคงพิจารณาถึงเรื่องดังกล่าว จากวันนี้เป็นต้นไป ต้องละทิ้งเรืิ่อง "แบ่งเขาแบ่งเรา" "ความคับแคบ" ของจิตใจ เพื่อเป็นการเปิดเส้นทางสู่ความอริยะ เพิ่มความขยันหมั่นเพียร เพื่อความภราดรภาพแห่งสากลโลกนี้เทอญ"
วันศุกร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2556
รู้แจ้งเห็นจิตแท้ธรรมญาณ แปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์เป็นหนึ่ง
เมื่อภาวะสูญตาอันสงบนิ่งเกิดการเคลื่อนไหว ทำใหเกิดจุดหนึ่งของความเปลี่ยนแปลง ในมหาจักรวาล สุญญตาภาวะของ หนึ่ง คือ เต๋า หรือ ธรรมะ
เต๋าหรือธรรมะ เป็นเหตุปัจจัยสืบเนื่องต่อไปให้เกิดสรรพสิ่ง จากหนึ่ง เป็นสอง สาม สี่ เป็นหมื่นแสนมิรู้จบ
ฟ้าได้ความเป็นหนึ่งฟ้าสงบใส
พื้นโลกได้ความเป็นหนึ่งพื้นโลกจะสงบสุข
คนได้ความเป็นหนึ่งคนจะเป็นอริยะ
ดังที่พระพุทธะตรัสไว้ว่า "รู้แจ้งเห็นจิตแท้ธรรมญาณ แปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์เป็นหนึ่ง"
ท่านเหลาจื้อได้โปรดสอนว่า "บำเพ็ญจิตฝึกธรรมญาณ ประคองธาตุกำเนิดรักษาความเป็นหนึ่งไว้"......
ท่านขงจื้อก็ได้โปรดสอนว่า "โน้มนำจิตกล่อมเกลี้ยงธรรมญาณ ประคองความเป็นกลางเข้าสู่ความเป็นหนึ่ง"
หนึ่งคือภาวะหลักของสัจธรรม คนได้รับหลักสัจธรรม คือได้รับธาตุแท้ญาณเดิม ได้รับความเป็นหนึ่งของฟ้า จึงเป็นชีวิตของกายสังขาร
ดังนั้น ภาวะเดิมของธรรมญาณอันกลมกลืนสว่างใส เป็นธรรมชาติธาตุเดียว ขณะอยู่ในครรภ์มารดาจึงไม่ต้องดื่มกิน ไม่ีมีความคิดดำริวิตก อาศัยการหายใจของมารดา เป็นกระแสเดียว จนเมื่อเกิดกายออกมาร้องแว้ กระแสของอิน หยังเข้าทางจมูก ภาวะความเป็นหนึ่งจึงกลายเป็นสองไปทันที
ดังที่กล่าวแล้วว่าก่อนธรรมญาณจะอาศัยในกายเนื้อ ธรรมญาณวิภาวะเป็นหนึ่ง เมื่อเข้าอาศัยกายกำเนิดจึงมีผลของชะตากรรมกำหนดมาประกอบเข้าด้วยกัน จึงเป็นชีวิตที่มีอิน หยัง คือมืด สว่าง ถูก ผิด ดี ร้าย ฯลฯ
ดังนั้น ธรรมญาณและชะตาชีวิตจึงสูญสิ้นความเป็นหนึ่ง เมื่อขาดความเป็นหนึ่ง ธรรมญาณจะกระจายระเริงไป เมื่อธรรมญาณระเริงไป ธรรมญาณก็มิได้สถิตอยู่กับญาณทวาร ไปพ้นจากฐานของสริสัมภวะ ฐานนั้นจึงว่างเปล่า ปราศจาพลังสถิต
เมื่อธรรมญาณระเริงไปสู่นัยน์ตาก็ติดในรูป
ระเริงไปสู่หูก็ติดในเสียง
ระเริงไปสู่จมูกก็ติดกลิ่น
ระเริงไปสู่ปากก็ติดรส และวาจา
ระเริงไปสู่แขนขาก็ติดอาการ
ระเริงไปสู่ผิวหนังก็รู้สึกเจ็บคัน
ระเริงไปสู่รูขุมขนก็รู้หนาวร้อน
ระเริงไปสู่อวัยวะช่องท้องก็รู้อิ่มรู้หิว
ระเริงไปสู่จิตก็รู้ในกามคุณทั้งหก คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อารมณ์
ระเริงไปสู่มโนวิญญาณก็รู้อารมณ์ทั้งเจ็ด คือ ยินดี โกรธ โศก สุข รัก เกลียน อยาก
เมื่อเป็นเช่นนี้ ชีวิตจิตใจจึงร่อนเร่ เมามายเหมือนคนตาย เหมือนหลับฝัน ถลำตัวมั่วหมก อยู่กับความวิตกทุกข์ภัย
เมื่อชะตาชีวิตขาดความเป็นหนึ่งชะตาชีวิตจะตกวิบาก วิญญาณจะถลำอยู่กับอารมณ์ต่าง ๆ ในกามคุณ จะจมอยู่กับสุรา นารี จะฝังชีวิตไว้กับลาภสักการะ เมื่ออกจากกายสังขารก็จะเวียนว่ายต่อไปในรูปกำเนิดสี่ชีววิถีหก ไม่อาจกลับคืนสู่สภาวะความเป็น หนึ่ง แห่งธาตุแท้ธรรมญาณได้
เมื่อฟ้าขาดความเป็น หนึ่ง ดาวเดือนจะผิดระบบการโคจร
เมื่อแผ่นดินขาดความเป็นหนึ่ง ภูเขาจะถล่มแผ่นดินจะทลาย
เมื่อคนขาดความเป็นหนึ่งจะตกไปสู่วัฏจักรของการเวียนว่าย
จิตเดิมแท้ของธรรมญาณ เป็นภาวะหลักของสังขาร
คำว่า หลัก อักษรจีนเขียนว่า หลี่
เมื่อหลักขาดความเป็น หนึ่ง อ่านว่า ไหม แปลว่า ถูกฝัง
มีความเป็นหนึ่งจึงเป็นหลัก ดังคำกล่าวที่ว่า "มีหลักท่องไปได้ในโลกกว้าง ขาดหลักไปได้ยากนักแม้สักก้าวเดียว"
วันอังคารที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2556
ธรรมจริงแท้เดิมทีไร้ลักษณา เพียงพริบตาหลุดพ้นห้วงเกิดตาย - พระโอวาทสิ่งศักดิ์สิทธิ์ องค์ประธานคุมสอบสามภูมิ
ธรรมจริงแท้ฤาแปลกปลอมนั้นแตกต่าง
ธรรมปลอมสร้างปาฏิหารย์สิ่งลวงตา
ธรรมจริงแท้เดิมทีไร้ลักษณา
เพียงพริบตาหลุดพ้นห้วงเกิดตาย
ครั้งกระโน้นขงจื้อกราบครูเจ็ดคน
หลังได้ยลเหลาจื้อไขปัญหา
หลุนอวี่กล่าวเช้ารับธรรมเย็นมรณา
ธรรมปริศนาผู้คนยากแจ้งใจ
ในครานั้นเจิงจื่อรับขานเสียง "เหวย"
ยากเฉลยศิษย์สามพันต่างกังขา
ศากยมุนีหกปีทุกขกิิริยา
พระุพุทธาทีปังกรส่งมอบธรรม
งานหลิงซันหมุนบุปผาหน้าหมู่สงฆ์
สัทธรรมตรงนัยตาแฝงแจ้งเลิศล้ำ
กัสสปะเผยรอยยิ้มปิตินำ
ผู้อื่นคลำหาทางมิเข้าใจ
หุบเหวเทพไม่สิ้นชีพเหลาจื้อกล่าว
ธรรมนั้นเล่าอัศจรรย์แฝงความหมาย
แต่บุราณสำเร็จเป็นเทพไท้
มีไหมไม่เสาะหาวิสุทธาจารย์
เพราะเวลาแห่งฟ้ายังไม่ถึง
ถ่ายทอดหนึ่งสู่หนึ่งสืบพงศา
มาบัดนี้เกณฑ์สามเวียนผ่านมา
ฟ้าบัญชาวิสุทธาฯ ช่วยโลกีย์
กงฉังจื่อซี่ร่วมรับพระโองการ
ปกโปรดงานสามภพเทพคนผี
ประชาต่างได้รับปลายกัปนี้
ธรรมวิถีฟ้าบัญชาสืบทอดไกล
หลายปีผ่านปกโปรดทุกถิ่นที่
ทั่วปฐพีธรรมเกรียงไกรแผ่ไพศาล
บุญสัมพันธ์ได้พบธรรมมิช้านาน
หลงสำราญมิปลงใจไร้บุญญา
มีบุญญาได้มาัรับธรรมฟ้า
บำเพ็ญพาโปรดบรรพชนแลลูกหลาน
ได้รับธรรมแม้นมีบุญเบาบาง
มิช้านานใจปรวนแปรแห่หนีไป
บำเพ็ญไปจิตใจหลงคิดผิด
เหมือนสิ้นคิดหาทางคอยขัดขวาง
ใจลบหลู่เบื้องบนแลถากถาง
เดินผิดทางรู้เมื่อสายภัยถึงตัว
พุทธะตรัสละคลางแคลงแจ้งปัญญา
จิตศรัทธาดลใจฟ้าคำปราชญ์กล่าว
ได้รับธรรมแพร่ธรรมในยุคขาว
สุกสกาวมรรคผลบุญหลงฮว๋างาน
ทุกข์เคี่ยวกรำช่วงเวลาเพียงอึดใจ
เสวยในมรรคผลหมื่นแปดร้อยปี
วันอาทิตย์ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2556
น้ำ...กอปรด้วยคุณธรรม
น้ำ...กอปรด้วยคุณธรรม
ท่านอริยปราชญ์เหลาจื่อ เขียนคำนิยามเกี่ยวกับน้ำไว้ว่า กุศลสูงเยี่ยงน้ำ ด้วยน้ำให้คุณต่อสรรพสิ่ง โดยไม่เบียดบัง
บรมครูขงจื่อให้คำนิยามไว้ว่า น้ำกอปรด้วยคุณธรรมห้าประการ
น้ำเป็นกระแสไหลไม่หยุดยั้ง นำความชุ่มฉ่ำไปสู่ชีวิตทั้งหลาย เหมือนมีเมตตาธรรม
น้ำไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ ไม่ขัดขืนฝืนทวน เ้ข้ากับลักษณะที่รองรับ เหลี่ยมยาวอย่างไร ก็เป็นไปตามสภาพอันควร เหมือนมีทำนองคลองธรรม
น้ำยิ่งใหญ่ไพศาล มิอาจประมาณขอบเขตความลุ่มลึกกว้างไกล เหมือนมีสภาวะธรรมอันคุณาการ
น้ำโกรกจากหน้าผานับร้อยวาสู่หุบเขาใหญ่โดยไม่หวั่น เหมือนมีพลังความกล้าหาญ
น้ำเมื่อตั้งวางก็ราบเรียบ ไม่เอาเปรียบสูงต่ำ เหมือนรักษาวินัย ปริมาณที่เห็นเป็นเท่าใดก็เท่านั้น ไม่ต้องตัด หั่น บั่น ทอน เหมือนมีความเที่ยงตรง
น้ำซึมซาบ ซอกซอนถึงที่สุด เหมือนรู้พิเคราะห์ละเอียดลึกซึ้ง
ต้นน้ำจะเริ่มจากทิศตะวันตกเป็นที่ตั้ง เหมือนมีความมุ่งมั่นที่แน่นอน
น้ำจะตักขึ้นใช้สอย ถ่ายเทอย่างไรไม่ขัดข้อง เช่นนี้จึงชำระล้างสรรพสิ่งให้สะอาดหมดจดได้ อีกทั้งเหมือนรู้จักปรับสภาพให้เหมาะควร น้ำชอบด้วยคุณธรรมความดีมากมายดังกล่าว ฉะนั้นกัลยาณชนพบน้ำที่ใด จึงควรพินิจพิจารณา
มองน้ำจึงให้พิจารณาถึงต้นกำเนิดของน้ำ
อักษรจีนคำว่าใส ( 白 อ่านว่า ไป๋ ) กับ น้ำ ( 水 อ่านว่า สุ่ย ) รวมกัน คือ เฉวียน หมายถึง แหล่งน้ำ
แหล่งน้ำก็คือต้นน้ำ
ลำธาร กำเนิดจากต้นน้ำบนภูเขา จะไหลอยู่ทั้งวันทั้งคืนไม่ขาดสาย เีรื่อยลงไปบรรจบทะเล แม่น้ำ ลำคลอง นับร้อยโดยดุษณี
ผู้มีจิตงดงามดังน้ำ จึงมีสภาวะธรรมเช่นต้นน้ำที่รินไหลไม่ขาดสาย และไม่เปลี่ยนแปลง ต้นน้ำไหลรินจึงเหมือนจิตที่ปีติท่วมท้นด้วยคุณธรรม
ผู้ใฝ่ธรรมทั้งหลายจึงพึงพิจารณาบำเพ็ญตนให้เหมือนน้ำใสที่ให้คุณนับร้อยต่อสรรพสิ่งทั้งหลายโดยไม่ว่างเว้น
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)