วันเสาร์ที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ธรรมะก็อยู่ในตัวเจ้า แต่เจ้ากลับไม่รู้สึกว่ามันดำรงอยู่ ศิษย์เอ๋ยต้องตื่นได้แล้ว! - พระโอวาทสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พระพุทธจี้กง เมตตา


พระโอวาทสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พระพุทธจี้กง เมตตา

     "กุย หลิง"(ภาษาจีน) แปลว่า คืนสู่ศูนย์ ศูนย์คือสุญตาภาวะ ทุกคนกำมือขึ้นมา นี่ก็คือศูนย์ หากว่าเจ้าคงสุญตภาวะไว้อย่างนี้ตลอดไป ขอถามหน่อยว่ามือคู่นี้ยังมีประโยชน์ไหม? สามารถหยิบจับสิ่งของได้ไหม?  ทำงานได้ไหม? ศูนย์นี้เปรียบเสมือนกับแก่น เป็นรากฐาน

     วันนี้อาจารย์จะสลายศูนย์ของพวกเจ้า และให้ "หนึ่ง" กับพวกเจ้า แบมือออกมานี่เรียกว่าแก่นและประโยชน์ กำมือเอาไว้ไม่มีประโยชน์ ดังนั้นศูนย์ต้องเปลี่ยนใหม่กลายเป็น "จื้อ อี" แปลว่า สู่หนึ่ง

     หนึ่งก็คือธรรมะ ศูนย์กับหนึ่งก็คืออินกับหยัง ว่างกับเต็ม ดำกับขาว อินหยังก็คือธรรมะ ไม่มีอินก็เหมือนกับมีแต่แก่นไม่มีประโยชน์จะไปดำเนินจริงได้อย่างไร?  คืนสู่ศูนย์ ไม่ใช่ว่าจมดิ่งนิ่งเงียบไม่ขยับ สลายศูนย์ตัวนี้จึงสามารถไปถึงหนึ่งได้ "หนึ่ง" มีเคลื่อนขยับมีนิ่งสงบ สัญลักษณ์ปิดเปิดก็มีหนึ่งกับศูนย์รวมอยู่ด้วยกันใช่ไหม? จะสลายหนึ่งก็ต้องมีเปิดมีปิด นี่ก็คือธรรมะ

     ธรรมะก็อยู่ในตัวเจ้า แต่เจ้ากลับไม่รู้สึกว่ามันดำรงอยู่ ศิษย์เอ๋ยต้องตื่นได้แล้ว! ธรรมะอยู่ข้างกายพวกเจ้าตลอดเวลา "กุย หลิง - คืนสู่ศูนย์" นั่นเป็นชั้นแรก แต่ชั้นสุดท้ายนี้คือ "จื้อ อี - ไปสู่หนึ่ง"

     "หนึ่ง" นั้นมีว่างมีเต็ม มีแจ้งมีลับ มีก้าวมีถอย มีรุกมีตั้งมั่น หากรู้จักที่จะ "คืนสู่ศูนย์" รู้จักที่จะ "ไปสู่หนึ่ง" อยู่บนหนทางการบำเพ็ญปฏิบัติธรรม ไม่ต้องห่วงหรอกว่าจะมีเรื่องใดที่แก้ไขไม่ได้

     ในใจของศิษย์เวลานี้ก็ต้องมีการ "คืนสู่ศูนย์" และ "ไปสู่หนึ่ง" การคือสู่ศูนย์นั่นก็คือแก่นของเจ้า การไปสู่หนึ่งคือประโยชน์ของเจ้า ประโยชน์นั้นเป็นการเคลื่อนขยับ แก่นนั้นคือสภาวะนิ่งสงบ ยามสงบนิ่งนั้นบำเพ็ญตน ยามเคลื่อนขยับนั้นโปรดฉุดช่วยคน ทุกขณะเวลาเข้าใจความสามารถที่จะพาตนไปสู่หนึ่ง ถ้าประคองรักษาแต่ศูนย์ตลอดไปเหมือนกับกำมืออยู่ตลอดเวลา ก็จะกลายเป็นมือพิการ ดังนั้นจะต้องเคลื่อนขยับ สลายหนึ่งไป

     เขาบอกกันว่าเหล็กที่สามารถเอาเข้าหลอมใหม่ได้นั้นเป็นเหล็กที่ดี บุคลากรก็เช่นกัน หากไม่สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์อีก ไม่อาจกลึงเจียได้อีก ก็ไม่ต่างอะไรกับเศษเหล็ก ไม่อาจนำเข้าเตาหลอมอีก จะสลักเสลาหล่อหลอมความมุ่งมั่นอันแกร่งกล้าของศิษย์ได้อย่างไร?

     เขาสาธิตบรรยายได้อย่างยอดเยี่ยม วิ่งแข่งชนะที่หนึ่ง พวกเจ้าก็ปรบมือให้ แต่การวิ่งแข่งมาราธอน คนสุดท้ายที่ถึงเส้นชัย ทุกคนก็จะปรบมือให้กับเขา เสียงปรบมือนั้นไม่แน่เสมอไปว่าจะให้กับคนที่เก่งที่สุดแต่เป็นการให้กำลังใจ ศิษย์ต้องรู้จักใช้เสียงปรบมือให้เป็นประโยชน์นอกจากให้กับคนที่เก่งที่สุดแล้ว ยังต้องให้กับผู้ที่อ่อนแอที่สุด และไร้ความสามารถที่สุดได้ ปรบมือให้กำลังใจให้เหมาะกับโอกาส นั่นเป็นการให้กำลังใจและสนับสนุนเขามากที่สุด ศิษย์อย่าพูดว่าตนเองไม่เป็นเทียบกับคนอื่นไม่ได้ ตัวเองบำเพ็ญธรรมบำเพ็ญได้แย่มาก ต้องรู้จักให้เสียงปรบมือกับตัวเอง

     ความหมายของ "หนึ่ง" นั้นลึกล้ำแยบยลมาก ไม่มีหนึ่งก็ไม่ได้ฟ้าและคนร่วมคุณธรรม คน ( 人 เหยิน ) ได้รับหนึ่ง ( 一 อี ) จึงใหญ่ ( 大 ต้า )

     การสละที่ยิ่งใหญ่จึงจะมีผลประโยชน์อันยิ่งใหญ่ มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จึงจะมีความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ ผู้เป็นมหาบุรุษนั้นจะไม่สูญสิ้นจิตบริสุทธิ์ คำว่า " 大 ต้า " (ยิ่งใหญ่) ได้รับ 一 อี (หนึ่ง) ก็คือ " 天 เทียน" (ฟ้า) ดังนั้นคนจึงจะประสานกับฟ้า หาก "人 เหยิน"(คน) ขาด 一 อี (หนึ่ง) ก็ไม่อาจเป็น " 大 ต้า " (ใหญ่) ได้  ใหญ่นั้นจะต้องมีความสามารถอันยิ่งใหญ่ มีผลสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ แน่นอนก็ต้องมีการสร้างสรรค์ที่ยิ่งใหญ่

     สร้างสรรค์เนื้อนาจิตของเจ้าผืนนั้นแปรโลกโลกียะนี้ให้เป็นแดนดอกบัวบาน นี่ก็คือความมุ่งมั่นของศิษย์ ศิษย์ต้องเห็นความสำคัญในตนเอง สำรวมตนถนอมตน คนอื่นเขาจึงจะให้ความสำัคัญกับเจ้า ในยามที่คนอื่นเขาให้ร้ายปรักปรำตำหนิเจ้าต้องรีบตรวจตราในส่วนที่ตนเองบกพร่องทันที ต้องมีปรีชาญาณและสัญชาตญาณจึงจะไม่สูญเสียจิตเดิมแท้ไป"