วันเสาร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

อนุตตรสัทธรรม 天 理 一 貫





ในคัมภีร์เต้าเต๋อจิง 道德經 ของท่านปราชญ์เหลาจื่อจารึกไว้ว่า : 

                                                                                  “ธรรมะอันกล่าวขานได้      มิใช่ธรรมะแท้ 
                                                                       นามอันเรียกขานได้                       มิใช่นามแท้ 
                                                                       ที่สุดของความว่างคือจุดเริ่มต้นของฟ้าดิน 
                                                                       ชาติภพคือต้นกำเนิดของสรรพสิ่ง”

ท่านปราชญ์จวงจื้อก็กล่าวไว้ในบทต้าจงซือเพียนว่า : 
     “อันว่าธรรมะนั้น มีสัมพันธภาพ มีสัจจะภาวะอันเที่ยงแท้ แต่ปราศจากรูปลักษณ์การกำหนดหมายถ่ายทอด มอบให้ได้ แต่มิอาจรับมอบได้ ได้รับไว้ แต่มองดูไม่เห็น เป็นกำเนิดเดิมที เป็นรากฐานเดิมที”

         ก่อนมีฟ้าดินนี้ ธรรมะคงอยู่แล้วก่อนกาลนาน ที่สุดของความลึกล้ำแยบยลทรงไว้ซึ่งมหิทธานุภาพนั้น ก่อกำเนิดฟ้า ก่อกำเนิดแผ่นดิน ภาวะนี้นั้นเหนือกว่าชั้นบรรยากาศแต่มิใช่ด้วยสูง ภาวะนั้นต่ำกว่าชั้นนรกานต์แต่มิใช่ด้วยลึก ภาวะนั้นมีอยู่ก่อนฟ้าดินแต่มิใช่ด้วยยาวนาน จำเริญกาลคงอยู่มาแต่มิใช่ด้วยแก่ชรา

ในคัมภีร์วิสุทธิสูตร 清靜經 ชิงจิ้งจิง จารึกไว่ว่า  :  
     “ธรรมะปราศจากรูปลักษณ์ ก่อเกิดฟ้าดิน ธรรมะปราศจากเยื่อใย เคลื่อนโคจรตะวันเดือน ธรรมะปราศจากนาม ก่อเกิดอุ้มชูสรรพสิ่ง เรามิรู้ชื่อของสิ่งนั้น จำต้องกำหนดชื่อให้ว่า “เต๋า  道 ธรรมะ”

ในคัมภีร์ธรรมของพระบรรพจารย์หลัว สมัยราชวงศ์หมิงในบทอู่ปู้สิ่วเช่อ จารึกไว้ว่า  :   
“เบื้องบน ที่สุดแห่งความว่างเปล่าให้กำเนิดฟ้าและดิน ปกครองฟ้าดินไว้ให้เลี้ยงดูสรรพสิ่ง...”

แสงญาณในตัวตนของสรรพชีวิตกำเนิดจากเบื่องบน ภาวะนั้นเป็นที่สุดแห่งความว่าง
ที่สุดของความว่างนั้นเองที่ก่อเกิดความเป็นฟ้า ก่อเกิดความเป็นแผ่นดิน ก่อเกิดรากฐานของคน

จากความเป็นมาเป็นไปของหลักสัจธรรมนี้เราจึงรู้ได้ว่า :
ธรรมะ   คือที่สุดแห่งความว่างเปล่า
ธรรมะ   ปกครองมหาจักรวาล เป็นรากฐานต้นกำเนิดก่อเกิดฟ้าดิน สรรพสิ่ง
ธรรมะ   คือตัวแท้ของจิตญาณ

ธรรมะเมื่ออยู่กับฟ้า เรียกว่า หลี่ 理 สัจธรรม เมื่อโปรดประทานไว้ในคนแล้วเรียกว่า ซิ่ง 性 จิตญาณ

ในคัมภีร์จง อ-ยง 中庸 จารึกไว้ว่า : 
“ชีวิตจากฟ้าเรียกว่า จิตญาณ ภาวะตัวแท้ที่ปกครองนำพาจิตญาณเรียกว่า ธรรมะ” 

ท่านปราชญ์ จูซี แห่งราชวงศ์ซ่งกล่าวไว้ว่า : 
“ก่อนมีฟ้าดินนี้ มีแต่หลักสัจธรรม(สัจภาวะ) ด้วยเหตุที่มีหลักสัจธรรมจึงเกิดมีฟ้าดิน”
กล่าวอีกว่า :  “หลักสัจธรรมคือความเป็นธรรมะอันอยู่เหนือรูปลักษณ์ เป็นต้นกำเนิดของสรรพสิ่ง คือพลัง (พลังงาน) เป็นกลไกให้แก่สิ่งอันมีรูปลักษณ์ต่อ ๆ มา การเกิดกายสังขารของคนจะต้องเป็นไปตามครรลองของหลักสัจธรรม จิตญาณ พลังสังขาร เมื่อประกอบไว้ด้วยกันตามหลักแห่งฟ้าสัจธรรมอันสมบูรณ์พร้อม จิตญาณจะแสดงคุณของพลังและสังขารให้เห็นได้ชัดเจน”

จิตญาณ คืออนุภาคส่วนแยกตัวของพลังแห่งหลักสัจธรรมอันเป็นตัวหลัก

ในศาสนาปราชญ์เรียกจิตญาณนั้นว่า “หมิงเต๋อ 明德 คุณธรรมสว่าง” เรียกว่า "ชีวิตบริบูรณ์ธรรม" “ชีวิตสว่าง”
ศาสนาพุทธเรียกว่า “เจินหยู หมายถึง คถตา” หรือ “ผูถีซิน หมายถึง โพธิจิต” "จิตพุทธะ"
ศาสนาเต๋าเรียกว่า “เสวียนพิ่นจือเหมิน หมายถึง ทวารมารดาวิเศษ” หรือ “เสวียนเชี่ยว หมายถึง โพรงวิเศษ” “เสวียนกวน  หมายถึง ทวารวิเศษ”
รวมความก็คือ “จิตพุทธะ” ที่รู้ตื่น เบิกบาน แผ่ไพศาล อันเป็นภาวะวิเศษที่มีอยู่ เป็นอยู่อย่างนั้นเองแต่เดิมที

ภาวะนี้แม้จะใช้ภาษานิยามต่างกันไป แต่ความหมายในความเป็นจริงนั้นเป็นหนึ่งเดียวกัน จิตภาวะสัจธรรมคือรากฐานชีวิตของคนเรา เป็นต้นกำเนิดอันยิ่งใหญ่ของชีวิต เมื่อเกิดเป็นมาจากภาวะนั้น เมื่อตาย ก็ควรจะต้องเป็นไปด้วยภาวะนั้นเช่นนั้น เรียกว่าหนทางเดิมของการเกิด-ตาย จากความว่างแล้วเกิดมี จากที่มีอยู่คืนสู่ความว่างดังเดิม

ตั้งแต่โบราณกาลมา หนทางตรงของการเกิด-ตาย หนทางที่จิตญาณจะละทิ้งกายสังขาร ศิษย์ของพระวิสุทธิอาจารย์จะได้รับการถ่ายทอดโดยตรงจากปากสู่จิต ในอนุตตรวิถีก็จะได้รับการถ่ายทอดเฉพาะบุคคล เพราะเป็นการ “ถ่ายทอดสัจธรรมของจิตภาวะ” โดยตรง เรียกว่า (ซิ่งหลี่เจินฉวน)

การถ่ายทอดนี้มิโปรดแพร่งพรายโดยง่าย อันเป็นการถ่ายทอดหลักสัจธรรม ถ่ายทอดแก่นแท้สูงสุดของศาสนาหลักใหญ่

การถ่ายทอดแก่นแท้โดยตรงนี้ ศาสนาปราชญ์เรียกว่า “อี๋ก้วน 一貫 รู้แจ้งแทงตลอด”
เรียกว่า “เทียนเต้า  วิถีแห่งฟ้า หรือ ธรรมะแห่งฟ้า อนุตตรวิถี”
ศาสนาพุทธเรียกว่า “เจิ้งฝ่าเอี่ยนฉัง หมายถึง สัทธรรมอันแฝงไว้ในจักษุครรภ์”
ศาสนาเต๋าเรียกว่า “จินตันต้าเต้า หมายถึง มหาวิถีของธรรมญาณดวงแก้ววิเศษ”

มหาวิถีอนุตตรธรรม ผู้ใดได้รับ บรรลุได้ พ้นเวียนว่ายเกิดตายได้

"อี๋ก้วนเต้า 一 貫 道 วิถีอนุตตรธรรม"

อี๋ 一 แปลว่า หนึ่งเดียว เอกเอกะ
ก้วน 貫 แปลว่า ซอกซอนชอนผ่านอยู่ในทุกสภาวะ บริบูรณ์ ถึงที่สุด สืบเนื่องเรื่อยไป ฯลฯ
เต้า  道  แปลว่า ธรรมะ อนุตตรภาวะ ตัวแท้ของจิตญาณ วิถี มรรค ฯลฯ

อี้ก้วนเต้า 一 貫 道 จึงแปลได้โดยสังเขปว่า เอกอนุตตรมรรค เอกธรรมมรรค เอกอนุตตรวิถี
ความเป็นหนึ่งเดียวอันอาจรู้แจ้งแทงตลอด
แปลว่าธรรมปฏิเวธ คือเมื่อรู้ความเป็นหนึ่งจึงเข้าถึงหนทางแห่งการบรรลุได้ ได้ความเป็นหนึ่ง ปัญญาจึงสืบเนื่องเรื่อยไป ฯลฯ