วันพฤหัสบดีที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ตนเองนี้ชาตินี้ไม่ช่วยไว้ ชาติใดได้ช่วยตนพ้นว่ายเวียน - พระโอวาทสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ท่านห-ลวี่ต้งปิน (吕大仙)






รู้แ้จ้งดุจ ยามดึก ได้ประทีป
บ้านมืดมิด พลันแจ้ง แสงสุกใส
ตนเองนี้ ชาตินี้ ไม่ช่วยไว้
ชาติใดได้ ช่วยตน พ้นว่ายเวียน

หนึ่งจะเตือน เมธี เร่งบำเพ็ญ
อย่ามัวเล่น เพลินหลง โลกีย์สี
เรื่องทางโลก โรยรา ดั่งมาลี
เหมือนราตรี หลับฝัน พลันหายไป

ใบหน้าวัย วัยก่อน กลายแก่เฒ่า
ผมก็ขาว โรยลง ไม่คงได้
ตรากตรำกาย ยากเข็ญ เป็นทุกข์ใจ

พลันกำหนด สุดท้าย ได้มาถึง
ทุกสิ่งซึ่ง หวงแหน ต้องทิ้งไว้
ไม่บำเพ็ญ จึงพลาด ทางควรไป
สิ้นร่างกาย รอใหม่ กี่หมื่นปี

     ปราชญ์เมธีทั้งหลาย โลกเรานี้เป็นเพียงสถานทางผ่านอยู่ได้ไม่นานเราก็จะต้องจากไป สังขารร่างกายของเราก็เช่นกัน หากไม่รีบใช้ประโยชน์บำเพ็ญเพื่อไปสู่ชีวิตที่เป็นอมตะแล้ว วันใดที่สูญสิ้นกายนี้ไป คิดหรือว่าอีกเืมื่อไรจะได้กายเช่นนี้อีก ขอจงกลับใจให้เห็นสัจธรรม จะได้พบความสุขอันแท้จริง

สองจะเตือน เมธา "อนิจจา" จงหลบ
โลกกามภพ ไม่คง จงอย่าหลง
หากวันใด ยมบาล ท่านเจาะจง
เรียกชีพปลง กายเนื้อ เหลือซากกลี

สุดที่รัก ห่วงหา มาด้วยไหม
ตัวต้องไป เดียวดาย ในเมืองผี
ลูกหญิงชาย ไม่อาจ ช่วยสักที
ตายแทนที่ มีแต่คร่ำ ร่ำไห้กัน

ดูทีหรือ สรรพสิ่ง ดั่งความฝัน
โลกวุ่นกัน ควรไหม ให้บอกขาน
ยากดีจน เบื้องบน ดลจัดการ
ส่วนสุขศานต์ เศร้าหมอง ของเราเอง

     ปราชญ์เมธีทั้งหลาย ให้หลบหนีสิ่งซึ่งเป็นอนิจจัง คือความไม่จีรังยั่งยืน ไม่อาจยึดเหนี่ยวไว้ได้ตลอดไป จงเร่งหาหนทางวิถีที่จะพาตนให้หลุดพ้นเถิด

สามขอเตือน บัณฑิต คิดเพียรธรรม
วิสุทธิอาจารย์ ติดตาม หนทางเร่ง
ความเป็นตาย ต่างช่วย ด้วยตนเอง
ใครหรือเก่ง ช่วยใคร ได้เสี้ยวคน

กุศลซื่อ บาปร้าย ใช่ใครผัน
ตนรู้ทัน ปรับใจ ได้เหมาะสม
จะดีชั่ว สุดท้าย สนองตน
หนีไม่พ้น นานไป ได้เห็นกัน

คนชั่วร้าย ตายลง ส่งขุมลึก
คนสำนึก รู้ธรรม คือสวรรค์
ดูทีหรือ เพีียรธรรม ดีกว่ากัน
ไม่หวาดหวั่น พญายม ไม่ปรานี

ท่องสัจจะ คาถา ศรัทธาถึง
ยามค่ำคืน ผีร้าย หลบหายหนี
เร่งเรียนรู้ แยบยล ฌาณจงดี
ช่วยน้องพี่ พร้อมกลับ กราบองค์ธรรม

     ปราชญ์บัณฑิตทั้งหลาย จงเร่งหาวิุสุทธิอาจารย์ เบิกชี้ให้เห็นธรรมญาณจิตแท้แห่งตน จิตแท้จะพาให้เห็นสัจธรรม นำไปสู่องค์ธรรมแดนนิพพาน

สี่เตือนให้ วิญญู รู้คนบุญ
ผู้สร้างคุณ ความดี มานานล้ำ
ชายมุ่งเลียน "เซียงจื่อ"* อรหันต์
หญิง "เมี่ยวซ่าน"*  เลียนจน พ้นโลกีย์

ตัดให้ขาด ชื่อลาภ รักลุ่มหลง
ใจมั่นคง บำเพ็ญ หนี่งเต็มที่
ชายอาจได้ อรหันต์ ในทันที
หญิงได้ดี บรรลุสู่ คู่ "กวนอิมฯ"

อรหันต์ เป็นไป จากชายคน
"องค์กวนอิม" ได้หลุดพ้น จากคนหญิง
อรหันต์ ไปจาก คนจริงจริง
ไม่เป็นจริง เพราะไม่ ใฝ่บำเพ็ญ

แต่โบราณ หญิงชาย มากมายมา
เป็นพุทธา อรหันต์ แล้วให้เห็น
อย่าย่ำยี ตัวต่ำ ทำกรรมเวร
มุ่งบำเพ็ญ ไม่หวั่น ผัันศรัทธา
................................................
หมายเหตุ เซียงจื่อ คือ ท่านหันต้าเซียน หนึ่งพระองค์ในกลุ่มแปดเซียน
                 เมี่ยวซ่าน คือ พระโพธิสัตว์กวนอิม 

     วิญญูชนผู้รู้ตื่นใจทั้งหลาย จงอย่าได้ประเิมินตนต่ำทราม ทุกคนมีโอกาสบรรลุธรรมชั้นสูงได้ทั้งนั้น การจะเป็นไปได้อยู่ที่ใจมั่นคงเป็นธงไชย
     พระอรหันต์(ต้าเซียน) "หันเซียงจื่อ" (หนึ่งในแปดเซียน) พระอวโลกิเตศวร "กวนอิมฯ" ล้วนเป็นแบบอย่างอันดีงาม

ห้าเตือนปราชญ์ เร่งสร้าง คุณธรรม
สุขเหลือล้ำ แม้นได้ ทางใหญ่แท้
อายุมาก บำเพ็ญ บุญปรกแผ่
หนุ่มสาวแน่ รุ่งเรือง บำเพ็ญดี

คนร่ำรวย บำเพ็ญ บุญยิ่งใหญ่
คนเข็ญใจ บำเพ็ญ เปลี่ยนราศี
คนมีลูก บำเพ็ญ ลูกจะดี
ส่วนคนที่ เดียวดาย ได้บุญนำ

คู่ผัวเมีย บำเพ็ญ คู่วาสนา
บุญต่างพา ส่งผล กุศลล้ำ
ต่างบรรลุ เพียบพร้อม คุณธรรม
ต่างหนุนนำ บุญญา ปรากฏกัน

สาธุชน ชายหญิง จงสำนึก
ผลผลึก โพธิญาณ คืนสวรรค์
ประทับบน ชั้นเก้า บัวบัลลังก์
เกษมสันต์ วิมุติ สุขกาลนาน

    ปราชญ์ทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า อาภรณ์ใดๆ ในโลกนี้ที่จะเหมาะเจาะงดงามสำหรับคนทุกเพศทุกวัน ทุกเมื่อทุกกาล ทุกฐานะพร้อมกันนั้นไม่มี
     บัดนี้วิถีอนุตตรธรรม บวชจิต บำเพ็ญได้ในครัวเรือนได้โปรดสู่ทุกผู้นาม เสมือนอาภรณ์อันงดงามประดับกายได้ทุกคนงามเหมาะสมทั้งครอบครัว จงภาวนาขอให้ได้รับไว้อย่าได้รั้งรอ



วันเสาร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ธรรมะนั้น เป็นสิ่งซึ่งมิอาจจากพรากแม้ชั่วขณะ จากพรากได้มิใช่ธรรมะ - 道也者,不可须臾离也。可离非道也。

ธรรมะนั้น เป็นสิ่งซึ่งมิอาจจากพรากแม้ชั่วขณะ จากพรากได้มิใช่ธรรมะ - 道也者,不可须臾离也。可离非道也。


"ธรรมะ" เมื่ออยู่กับสภาวะของมหาจักรวาลก็คือ "หลักสัจธรรม" ของการดำรงอยู่ของสิ่งต่างๆ ในมหาจักรวาล เช่น การดำรงอยู่ของตะวัน เดือน ดวงดาว ลมฟ้าอากาศ การดำรงอยู่ของสรรพสิ่งและการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ทดแทนกัน อันเป็นหลักเที่ยงแท้แน่นอน

"ธรรมะ" เมื่ออยู่กับคน นั่นคือ พลังงานวิเศษแยบยล เมื่อพลังงานวิเศษแยบยลนั้น อยู่กับกายเนื้อ กายเนื้อจึงเคลื่อนไหวได้ พัฒนาเจริญเติบโตได้

"ธรรมะ" เมื่ออยู่กับคน นั่นคือจิตญาณตัวรู้อันวิเศษแยบยล คนจึงมีความรู้สึกคิดต่างๆ ได้

"ธรรมะ" เมื่ออยู่กับคน นั่นคือคุณสมบัติสูงส่งดีงาม คนจึงมีจิตสำนึกรู้ผิดชอบชั่วดี มีเมตตากรุณาธรรม

"ธรรมะ" อันเป็นคุณสมบัติสูงส่งดีงาม แม้หากจากพรากไป ความชั่วร้ายจะครอบงำผู้นั้น

"ธรรมะ" อันเป็นพลังงานวิเศษ แม้หากจากพรากละทิ้งสังขารไป กายเนื้อที่เหลืออยู่ จะเป็นเพียงซากศพ

"ธรรมะ" อันเป็นจิตญาณ แม้หากพรากจากกาย จิตญาณไม่อยู่ควบคุมบงการสังขาร สังขารนั้นแม้จะมีลมหายใจ ก็เท่ากับตาย

ท่านบรมครูจอมปราชญ์ขงจื่อ ซึ่งเป็นครูผู้รู้ดีแล้วตั้งแต่ครั้งสองพันห้าร้อยกว่าปีก่อน จึงได้โปรดสั่งสอนศิษย์ทั้งสามพันคนของท่าน ให้หมั่นสำเหนียกความสำคัญยิ่งของ "ธรรมะ" ในตนอยู่เสมอว่า

"ธรรมะ" นั้นเป็นสิ่งซึ่งมิอาจจากพรากแม้ชั่วขณะ สิ่งอันจากพรากได้ มิใช่ "ธรรมะ"




วันศุกร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2556

อะไรเรียกว่า...หลักธรรมของความซื่อสัตย์ภักดีและโอบอ้อมอารีให้อภัย


อะไรเรียกว่าหลักธรรมของความซื่อสัตย์ภักดีและโอบอ้อมอารีให้อภัย

     ท่านจูจื่ออธิบายว่า "การทำสุดกำลังของตน เรียกว่าความซื่อสัตย์ภักดี การเอาใจเขามาใส่ใจเรา เรียกว่าความโอบอ้อมอารีให้อภัย"

     ดูจากตรงนี้แล้วไม่ว่าเรื่องใดทำอย่างสุดจิตสุดใจและใส่ใจ ก็เรียกว่า ซื่อสัตย์ภักดี ผู้ทรงคุณธรรมในอดีตกล่าวไว้ว่า "เสียงลม เสียงฝน เสียงอ่านหนังสือ ทุกเสียงก็ไพเราะหมด เรื่องครอบครัว เรื่องบ้านเมือง เรื่องทั่วหล้า ทุกเรื่องล้วนใส่ใจ" จึงกล่าวกันว่า "บ้านเมืองจะรุ่งเรืองหรือล่มสลาย ไม่ว่าใครก็มีหน้าที่รับผิดชอบ" 

     ในประัวัติศาสตร์ ท่านอีอิ่นก็คือแบบอย่างของผู้กล้าในการแบกรับ ปราชญ์เมิ่งจื่อจึงยกย่องท่านว่า "ท่านอีอิ่นเป็นหนึ่งในพระอริยะผู้มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่เป็นที่สุด"
     ในคัมภีร์เมิ่งจื่อ บันทึกไว้ว่า "ท่านอีอิ่นกล่าวไว้ว่า ฟ้ากำเนิดประชาราษฎร์ ให้ผู้รู้ก่อนชี้นำผู้มาทีหลังให้รู้ ให้ผู้ตื่นแจ้งก่อนชี้นำผู้มาทีหลังให้ตื่นแจ้ง เราคือผู้ตื่นแจ้งก่อนประชาราษฎร์ เราจะนำธรรมนี้มาชี้นำให้ประชาราษฎร์ตื่นแจ้งด้วย เมื่อท่านอีอิ่นนึกถึงประชาราษฎร์ ไม่ว่าจะชายหรือหญิง หากผู้ใดไม่ได้รับบารมีคุณจากอริยกษัตริย์เหยาและอริยกษัตริย์ซุ่น นั่นเหมือนดั่งตนเองผลักพวกเขาตกลงไปในคูน้ำ ท่านจึงขอแบกรับหน้าที่อันยิ่งใหญ่เพื่อคนทั่วหล้า"
     ในเวลานี้ผู้บำเพ็ญมากมาย หากไม่แบกรับหน้าที่อันยิ่งใหญ่ ก็จะถดถอยไม่ก้าวหน้า หรือไม่ก็เป็นทหารหนีทัพของอาณาจักรธรรม หากเป็นเช่นนี้จะทำให้บรรพชนได้รับความอับอายเป็นอย่างยิ่ง

     คำว่า "忠" (จง แปลว่า ความซื่อสัตย์ภักดี) มาจากคำว่า "中" (จง แปลว่า ความเป็นกลาง) และคำว่า "心" (ซิน แปลว่า ใจ) หมายถึง จิตหนึ่งใจเดียวไม่เอนเอียง
     ส่วนคำว่า "ซู่" (แปลว่า ความโอบอ้อมอารีให้อภัย) มาจากคำว่า "如" (หยู แปลว่า เหมือนดั่ง) และคำว่า "心" (ซิน แปลว่า ใจ) หมายถึงการเอาใจเขามาใส่ใจเรา เห็นใจกัน
     ดั่งนั้นคำว่า "จงซู่" แปลว่า ความซื่อสัตย์ภักดีและโอบอ้อมอารีให้อภัย จึงไม่ห่างจากคำว่า  "心" (ซิน แปลว่า ใจ)

     คัมภีร์เถาเอวี๋ยนหมิงเซิ่งจิงกล่าวไว้ว่า "เราเคยกล่าวไว้ว่า ตะวันอยู่บนฟ้า ใจอยู่ในตัวคน ใจเป็นรากฐานของทุกเรื่อง คุณธรรมสามัญห้าที่กล่าวอยู่ในศาสนาปราชญ์ พระรัตนตรัยที่กล่าวอยู่ในศาสนาพุทธ และสามสิ่งวิเศษที่กล่าวอยู่ในศาสนาเต๋า ล้วนสำแดงออกมาจากใจนี้" อาศัยความซื่อสัตย์ภักดีมาปกป้อง และดำเนินตามหลักธรรมฟ้า อาศัยความโอบอ้อมอารีให้อภัยมาปฏิบัติต่อผู้คน


  • ความซื่อสัตย์ภักดี หมายถึงการทัดทานด้วยความจริงใจ ส่วนความโอบอ้อมอารีให้อภัย หมายถึงการเป็นเลิศในการนำพา
  • ความซื่อสัตย์ภักดี คือการทำการใดๆ ด้วยใจเที่ยงตรงเสมอ ส่วนความโอบอ้อมอารีให้อภัย คือการอาศัยกุศโลบายมาโน้มนำผู้คน
  • ความซื่อสัตย์ภักดี คือจิตใจที่จงรักภักดีดั่งดวงตะวันที่เจิดจ้า ส่วนความโอบอ้อมอารีให้อภัย ดั่งแสงจันทราที่เมตตาและอ่อนโยน
  • ความซื่อสัตย์ภักดี คือการสำแดงจิตตนอย่างเต็มที่ ส่วนความโอบอ้อมอารีให้อภัยคือการทำให้คนทั้งหลายสำแดงจิตอย่างเต็มที่ และทำให้สรรพสิ่งสำแดงศักยภาพได้อย่างเต็มที่
  • ความซื่อสัตย์ภักดี คือความยุติธรรมเที่ยงธรรม ส่วนความโอบอ้อมอารีให้อภัย คือความเมตตาการุณย์
  • ความซื่อสัตย์ภักดี เป็นสภาวะหยัง อันแข็งแกร่ง ส่วนความโอบอ้อมอารีให้อภัย เป็นสภาวะอิน อันอ่อนโยน หากผู้ใดมีความซื่อสัตย์ภักดีจะเป็นที่น่าเคารพยำเกรง หากผู้ใดมีความโอบอ้อมอารีใ้ห้อภัย ไม่ว่าใครเข้าใกล้ก็รู้สึกอบอุ่นใจ
  • ความซื่อสัตย์ภักดีเป็นวิธีการที่ถูกต้อง ส่วนความโอบอ้อมอารีให้อภัยเป็นความกลมกลืนทุกทิศทาง

     ความหมายของความซื่อสัตย์ภักดีและความโอบอ้อมอาีรีให้อภัยนั้นมีมากมายนักกล่าวให้ลึกซึ้งอีกระดับได้ว่า...เมื่อใจดำรงอยู่ในความเป็นกลางได้ นั่นก็คือความซื่อสัตย์ภักดี เมื่อใจสำรวมเป็นหนึ่งไ้ด้ นั่นก็คือ ความโอบอ้อมอารีให้อภัย เมื่อสำแดงความซื่อสัตย์ภักดีได้ถึงที่สุด ฟ้าและคนก็เป็นหนึ่งเดียวกัน เมื่อสำแดงความโอบอ้อมอารีให้อภัยได้ถึงที่สุด ก็จะไร้ซึ่งความยึดติดในอัตตาและบุคคล

ความซื่อสัตย์ภักดี คือสภาวะเดิม ส่วนความโอบอ้อมอารีให้อภัย คือการสำแดงศักยภาพ
ความซื่อสัตย์ภักดี คือการทำให้ตนเองรู้ตื่น ส่วนความโอบอ้อมอารีให้อภัย คือการทำให้ผู้อื่นรู้ตื่นด้วย
ความซื่อสัตย์ภักดี เป็นการเทิดทูนคุณธรรม ส่วนความโอบอ้อมอาีรีให้อภัย เป็นการตอบแทนพระคุณ

     หลักธรรมของความซื่อสัตย์ภักดี และความโอบอ้อมอารีให้อภัย ครอบคลุมอย่างกว้างขวาง หากสามารถหลอมรวมหลักธรรมของความซื่อสัตย์ภักดีและความโอบอ้อมอารีให้อภัยให้เป็นหนึ่งเดียวกันได้ อีกทั้งถ่องแท้ใน "หนึ่ง" นี้ ก็จะสามารถอาศัย "หนึ่ง" มารู้แจ้งแทงตลอดได้ "หนึ่ง" ก็คือทุกสิ่ง และทุกสิ่งก็คือ "หนึ่ง" จึงกล่าวว่า เมื่อได้รับหนึ่ง ทุกสิ่งก็เพียบพร้อมสมบูรณ์

     แท้ที่จริงหลักธรรมของความซื่อสัตย์ภักดี และความโอบอ้อมอารีให้อภัย ก็มาจาก "หนึ่ง" ยามนิ่งสงบก็ฉุดช่วยตน เพื่อคือสู่ความซื่อสัตย์ภักดี ยามเคลื่อนขยับก็ฉุดช่วยผู้คน เพื่อคืนสู่ความโอบอ้อมอารีให้อภัย

     มีอยู่ครั้งหนึ่ง ปราชญ์จื่อก้งเคยเีรียนถามบรมครูขงจื่อว่า..."มีคำพูดใดบ้างที่สามารถนำมาใช้ดำเนินได้ตลอดชีวิตหรือไม่?" บรมครูขงจื่อตอบว่า "น่าจะเป็น ความซื่อสัตย์ภักดีกระมัง! สิ่งที่ตนไม่ต้องการ ก็อย่าเอาไปให้คนอื่น"

     จึงกล่าวว่า "แผนภูมิเซียนกว้าให้คัมภีร์อี้จิงล้วนเป็นมงคลทั้งสิ้น คำว่าโอบอ้อมอารีให้อภัย สามารถนำไปใช้ได้ตลอดชีวิต" นี่คือแนวทางที่จะฟื้นฟูคืนสู่จิตเดิมแท้

...............................................................................................................................................................................................

ย้อนอ่านบทความก่อนหน้า "ธรรมแห่งเรานั้นอาศัยหนึ่งแจ้งแทงตลอด - บรมครูจอมปราชญ์ขงจื่อ"



วันอังคารที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2556

"เมื่อโลกเบิกฟ้าสว่างแจ้ง ก็ได้กำหนดทศพุทธปกครองแพร่คำสอน" - คัมภีร์อิ้งเจี๋ยจิง


คัมภีร์อิ้งเจี๋ยจิง จารึกไว้ว่า...
"เมื่อโลกเบิกฟ้าสว่างแจ้ง ก็ได้กำหนดทศพุทธ(พระพุทธเจ้าสิบพระองค์) ปกครองแพร่คำสอน"

(พระพุทธเจ้าเจ็ดพระองค์แรก ทรงทำหน้าที่ปกครองพัฒนาจิตใจชาวโลก สามพระองค์สุดท้ายเก็บงานฯ เก็บธรรมญาณที่บำเพ็ญสมบูรณ์แล้ว)

ก่อนกำเนิดโลก ในมหาจักรวาลปรากฏกลุ่มหมอกควันเป็นธาตุคละเคล้ารวมตัวเป็นกลุ่มใหญ่ ไม่มีเสียง ไม่มีกลิ่น ไม่มีนามใดให้เรียกขาน

ต่อมาธาตุคละเคล้านั้นก็กระจายแยกตัวออกจากกัน จึงเริ่มมีฟ้าดินอย่างชัดเจน
(กำเนิดกาลของโลกแต่ละระยะ อาศัยสิบสองนักษัตรเป็นเครื่องหมายในการนับ)

เริ่มกำหนดกาลชวด บรรยากาศภายนอกที่ห่อหุ้มธาตุคละเคล้ากลุ่มใหญ่นั้นเริ่มกระจาย เรียกว่า "เบิกฟ้า"

กำหนดกาลที่สองคือฉลู เริ่มก่อเกิดพื้นฐานความมั่นคงของ "แผ่นดิน"

กำหนดกาลที่สามคือขาล เป็นกำหนดกาล "กำเนิดมนุษย์"

คนเดิมจึงได้ลงมาในโลก ปลูกฝังรากฐานมนุษยชาติ
ครั้งนั้น มนุษย์เป็นเพียงสัตว์โลกชาวป่าโง่เขลา ไม่แตกต่างจากสัตว์ ไม่อาจปกครองโลก มีคนจึงเหมือนไม่มีคน โลกจึงไม่เป็นโลก

จนกระทั่งกำหนดกาลที่สี่คือ เถาะ เบื้องบนจึงส่งพุทธบุตรลงมาปกครองโลก

  • ปฐมพุทธา อุบัติมายังทิศทักษิณ (ใต้) พระนามว่า ชื่อไอ้ฝอ ปกครองธรรมกาลอยู่หกพันปี
  • ทุติยพุทธา อุบัติมายังทิศอุดร (เหนือ) พระนามว่า เซิงอวี้จื่อ ปกครองธรรมกาลอยู่สี่พันแปดร้อยปี
  • ตติยพุทธา อุบัติมายังทิศบูรพา (ตะวันออก) พระนามว่า เจี่ยซันซุน ปกครองธรรมกาลอยู่สามพันเจ็ดร้อยยี่สิบปี
  • จตุพุทธา อุบัติมายังทิศประจิม (ตะวันตก) พระนามว่า อิ่วจั่งเกิง ปกครองธรรมกาลอยู่เจ็ดพันแปดสิบปี
  • เบญจพุทธา อุบัติมายังทิศพายัพ (ตะวันตกเฉียงเหนือ) พระนามว่า คงกู่เิสิน ปกครองธรรมกาลอยู่ห้าพันสองร้อยแปดสิบสี่ปี
  • ฉพุทธา อุบัติมายังทิศอาคเนย์ (ตะวันออกเฉียงใต้) พระนามว่า หลงเอี่ยซื่อ ปกครองธรรมกาลอยู่ห้าพันห้าร้อยสิบหกปี
  • สัตตพุทธา อุบัติมายังทิศอีสาน (ตะวันออกเฉียงเหนือ) พระนามว่า จี้เทียนฝอ ปกครองธรรมกาลอยู่ห้าพันแปดร้อยปี
หลังจากเจ็ดพระพุทธาแล้ว สามพระพุทธามาเก็บงาน
  • พระทีปังกรพุทธเจ้า อัฐมพุทธา หยานเติงกู่ฝอ สนองวาระในธรรมกาลยุคเขียว เป็นธรรมกาลแรกที่เริ่มเก็บงาน เปิดงานชุมนุมพระอริยะสระโบกขรณี (สระบัว) (เหยียนฉือ) ปกครองธรรมกาลอยู่หนึ่งพันห้าร้อยปี
  • พระศากยพุทธเจ้า นวมพุทธา ซึเจียเม่าหนี สนองวาระในธรรมกาลยุคแดง เก็บงานในธรรมกาลที่สอง เปิดงานชุมนุมพระอริยะคิชฌกูฎ (หลิงซัน) ปกครองธรรมกาลอยู่สามพันปี
  • บรรพพุทธาเมตเตยยะ ทศมพุทธา หมีเล่อกู่ฝอ สนองวาระในธรรมกาลยุคขาว เก็บงานในธรรมกาลที่สาม เปิดชุมนุมพระอริยะนาคะภัทรประทีป (หลงฮว่า) ปกครองธรรมกาลอยู่หนึ่งหมื่นแปดร้อยปี 
เมื่อถึงกำหนดกาลมะแม ก็สิ้นสุดวาระปกครองโลกครบถ้วน
กำหนดกาลวอก เก็บญาณเดิมกลับคืนไป
กำหนดกาลระกา มนุษย์โลกคืนสู่ความว่างเปล่า
จนถึงกำหนดกาลกุน โลกจักรวาลกลับคืนสภาพ เป็นธาตุคละเคล้าอลวน

ครบรอบกำหนดโคจรในหนึ่งธรรมกาล (หนึ่งแสนสองหมื่นเก้าพันหกร้อยปี)

ขณะนี้ เป็นกำหนดกาลมะเมียคาบเกี่ยวมะแม
พระศากยพุทธเจ้านวมพุทธา เข้าสู่ปรินิพพานแล้ว
วิถีธรรมยุคสุดท้ายกำลังถ่ายทอดสู่ชาวโลก

     ด้วยเหตุที่ชาวโลกมิได้รับสัทธรรมนำพา อีกทั้งใจคนเสื่อมทรามลงทุกวัน คุณธรรมสูญสิ้น ปรากฏความวุ่นวายให้เห็นมาช้านาน พุทธาลัยนี้จึงสนองพระโองการเบื้องบน เหล่าเทพพรหมก็ขะมักเขม้นวุ่นกันทั้งวันทั้งคืน เพื่อเตรียมงานที่ทศมพุทธาบรรพพุทธาเมตเตยยะ จะเสวยอายุกัปในกำหนดกาลสุดท้ายนี้เป็นการลุล่วงพระภาระศักดิ์สิทธิ์ในการปกครองโลก เสร็จสิ้นตามกำหนดครบถ้วนสิบพระพุทธาบริบูรณ์ 

ทุกมรรควิถี ไม่มีธาตุแท้จิตภาวะตน และล้วนคืนสู่ความว่างเปล่า

                                                           
ใน คัมภีร์วัชรญาณสูตร 金剛經 (จินกังจิง) จารึกไว้ว่า "ผู้ใดเห็นเราด้วยรูป วอนเราด้วยเสียง ผู้นั้นดำเนินมิจฉาวิถี มิเห็นด้วยตถาคต"

ใน ศูรางคมสูตร 楞嚴經 (เหลิงเอี๋ยนจิง) จารึกไว้ว่า "ใดใดที่วาจาว่าไว้ ล้วนมิใช่ความหมายตัวแท้"

ใน คัมภีร์คุณธรรม 道德 (เต้าเต๋อจิง) จารึกต้นบทว่า "ที่กล่าวอ้างได้มิใช่ธรรมะ ที่กล่าวนามได้มิใช่นามจริง"

ใน คัมภีร์ทางสายกลาง  (จง-อยง) ก็จารึกไว้ว่า "รูปเสียงอันสามารถแปรเปลี่ยนใจคนได้ นั่นคือปลายเหตุ ธรรมะซึ่งฟ้าค้ำจุนไว้ ปราศจากเสียง ปราศจากกลิ่น เป็นที่สุดแห่งรูปนามทั้งปวง" 

     รวมความจากพระธรรมคัมภีร์ทั้งสามศาสนา ล้วนแต่ชี้ให้ชาวโลกรู้ว่าวาจาหรืออักขระใดๆ ล้วนเป็นเพียงสัญลักษณ์ เครื่องหมาย เป็นสื่อให้เท่านั้น หาใช่ธาตุแท้ไม่

จึงทำความเข้าใจได้ว่า "ทุกมรรควิถี ไม่มีธาตุแท้จิตภาวะตน และล้วนคืนสู่ความว่างเปล่า"





วันอาทิตย์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ญาณเดิมเคยงดงาม เปี่ยมด้วยแรงพลังธรรมบริสุทธิ์ - ท่านเหอเซียนกู - หนึ่งในแปดเซียน (何大仙)




                                                                                ญาณเดิมเคยงดงามแพรวพราวแสง
                                                                       เปี่ยมด้วยแรงพลังธรรมบริสุทธิ์
                                                                       คุณธรรมแฝงเร้นกลางใจวิมุติ
                                                                       รับหนึ่งจุึดฟื้นญาณหม่นให้งดงาม

                                                                               คุณธรรมห้างดงามแสดงแจ้ง
                                                                       มิเร้นแฝงกลางญาณภูผาล้ำ
                                                                       วิสุทธิ์ชี้เปิดจุดเบิกดวงธรรม
                                                                       ใจน้อมนำฝึกตามรอยพุทธา

                                                                              หนึ่งเคารพอ่อนน้อมย่อมผ่อนปรน
                                                                       บุตรทุกคนญาณเดิมร่วมมารดร
                                                                       โลกสงบด้วยเคารพซึ่งกันก่อน
                                                                       คำปราชญ์สอนชี้นำพ้นเภทภัย

                                                                             สองพึงรู้ให้อภัยในดวงจิต
                                                                       ผู้อื่นผิดผ่อนปรนใจเมตตา
                                                                       หากตนผิดเข้มงวดแก้ไขหนา
                                                                       ในจิตราดุจดั่งองค์พระศรีอาริย์

                                                                            สามสัจวาจาน่าเชื่อถือ
                                                                       คำพูดคือนายตนเมื่อกล่าวไป
                                                                       โลกจะอยู่ร่มเย็นเป็นสุขไซร้
                                                                       กล่าวคำใดศักดิ์สิทธิ์แลเที่ยงตรง

                                                                            สี่ขยันหมั่นเพียรมิเกียจคร้าน
                                                                      บำเพ็ญทานบุญสร้างมิวอนขอ
                                                                      เก็บสะสมเล็กน้อยค่อยค่อยก่อ
                                                                      ดอกผลบานชูช่อในเบื้องปลาย

                                                                           ห้าช่วยเหลือผู้อื่นเป็นสุขล้ำ
                                                                      เร่งกระทำด้วยจริงใจมิเสแสร้ง
                                                                      เมื่อพบเจอปัญหาผลแสดง
                                                                      คนดีแฝงหนุนนำเสริมส่งตาม

                                                                          ห้าคุณธรรมงดงามหมั่นฝึกฝน
                                                                      บำเพ็ญตนสร้างเสริมญาณเดิมใส
                                                                      โลกบังเกิดร่มเย็นเป็นสุขใส
                                                                      ด้วยตั้งใจฝึกตามสำเร็จเอย




















วันเสาร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ธรรมแห่งเรานั้นอาศัยหนึ่งแจ้งแทงตลอด - บรมครูจอมปราชญ์ขงจื่อ




ธรรมแห่งเรานั้นอาศัยหนึ่งแจ้งแทงตลอด - บรมครูจอมปราชญ์ขงจื่อ


     มีอยู่วันหนึ่ง บรมครูขงจื่อแสดงปริศนาธรรมกับปราชญ์เจิงจื่อและเหล่าสานุศิษย์ โดยกล่าวว่า "เซินเอ๋ย! ธรรมะแห่งเรานั้นอาศัยหนึ่งแจ้งแทงตลอด" ปราชญ์เจิงจื่อตอบทันทีว่า "ครับ ! "
     จากนั้นบรมครูขงจื่อก็เดินออกไป ทำให้ศิษย์คนอื่นๆเกิดความฉงนสนเท่ห์ จึงถามด้วยความสงสัยว่า "ที่อาจารย์พูดนั้นหมายความว่าอะไรหรือ?" ปราชญ์เจิงจื่อตอบว่า "หลักธรรมของอาจารย์นั้น มีเพียงความซื่อสัตย์ภักดีและความโอบอ้อมอารีให้อภัยเท่านั้นเอง !"

     การแสดงปริศนาธรรมนี้ทำให้คนมากมายไม่อาจเข้าใจได้ คนรุ่นหลังจึงกล่าวกันว่าในยามนั้นปราชญ์เจิงจื่อตอบเพียง "ครับ" จึงทำให้ชาวโลกมากมายเกิดความเข้าใจผิด เหตุใดปราชญ์เจิงจื่อจึงไม่กล่าวอย่างชัดเจน? ในคำว่า "ครับ" นี้ แท้จริงแล้วปราชญ์เจิงจื่อได้รู้แจ้งสิ่งใด? ใช่หรือไม่ว่าเป็นเพราะ "ในท่ามกลางนั้นแฝงความนัยอยู่ อยากจะกล่าวแต่มิรู้ว่าจะพูดอย่างไร?"
     เหมือนกับในวัชรสูตรที่ท่านสุภูติกล่าวว่า "สาธุ ! พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์มีความปรารถนาและยินดีเป็นยิ่งนัก ที่จะขอสดับคำชี้แนะจากพระองค์" แท้จริงแล้วก็คือ "ความรู้แจ้งในสิ่งเีดียวกัน" การสื่อจิตประทับจิตเช่นนี้ หากมิใช่ผู้กระจ่างจิตแจ้งธรรมญาณก็ไม่อาจเข้าถึงได้
     มิน่าเล่าบรมครูขงจื่อจึงบอกกับปราชญ์เอี๋ยนหุยผู้เป็นศิษย์เอกว่า "หากมีคนเรียกใช้เรา เราก็ไปปฏิบัติหน้าที่ หากไม่มีก็บำเพ็ญตน ผู้ที่ทำได้เช่นนี้ มีเพียงอาจารย์กัับเจ้าเท่านั้นที่ทำได้" (ขยายความได้อีกว่า ยามปฏิบัติงานใดๆก็ดำเนินตามจิตญาณนี้ ยามว่างก็สำรวมจิตไว้ ผู้ที่รู้วิถีจิตนี้มีเพียงอาจารย์กับเจ้าเท่าันั้น) ปราชญ์จื่อลู่แม้ว่าจะเป็นศิษย์ของบรมครูขงจื่อ แต่ก็ยังเข้าไม่ถึงแก่นธรรม จึงไม่อาจเข้าใจคำพูดนั้นๆได้เช่นกัน

     บรมครูขงจื่อถามปราชญ์จื่อก้งว่า "เจ้าคิดว่าอาจารย์ได้ศึกษาเรียนรู้อย่างกว้างขวาง แล้วจดจำได้หมดใช่ไหม?" เพราะปราชญ์จื่อก้งยังยิดติดกับการรู้การเห็น จึงตอบไปว่า "ใช่ครับ ! มิใช่อย่างนั้นหรอกหรือ ?" แท้จริงแล้วในจิตใจยังลังเลสงสัยอยู่
     บรมครูขงจื่ออธิบายว่า "ไม่ใช่หรอก ! ธรรมแห่งเรานั้นอาศัยหนึ่งแจ้งแทงตลอด" แต่ทว่าปราชญ์จื่อก้งจะเข้าใจอย่างแท้จริงหรือไม่? ปราชญ์จื่อก้งเคยกว่าวว่า "วิชาความรู้ของบรมครูขงจื่อนั้น รับและสดับได้ แต่วิถีจิตและหลักธรรมฟ้าที่บรมครูขงจื่อกล่าวถึงนั้น มิอาจรับและสดับได้" จะเห็นได้ว่า "วิถีจิตและหลักธรรมฟ้า" ตั้งแต่อดีตนั้นยากที่จะสดับและเข้าใจได้ แม้ว่าคนมากมายได้พบพานแต่ก็ไม่อาจกระจ่างแจ้งได้ เหมือนกับบทกลอนของท่านหันซี่ที่กล่าวไว้ว่า "ไม่รู็จักแก้ววิเศษอันล้ำค่าของจิตตน ก็ไม่ต่างอะไรกับปล่อยให้ลาบอดเดินไปเองอย่างไร้จุดหมาย" ก็จะใช้ชีวิตอย่างยุ่ง บอด เคว้ง นั่นมิใช่เรื่องที่น่าเสียดายหรอกหรือ ?

     มีบางคนแม้จะบำเพ็ญพุทธธรรม แต่กลับไม่ยอมแสวงหาธรรมวิถีแห่งการหลุดพ้นจากพระวิสุทธิอาจารย์ มุ่งบำเพ็ญแต่ยานระดับล่าง นั่นก็ไม่ต่างอะไรกับ "เข้าไปนับเม็ดทรายในทะเล มีแต่ทำให้ตนเองเหนื่อยเปล่า"
     ในเจิ้งเต้าเกอ (บทสดุดีของการประจักษ์แจ้งธรรม) ของพระเถระหย่งเจียกล่าวไว้ว่า "มุ่งตรงสู่รากต้นกำเนิดที่พุทธะประทับให้ หากเสาะแสวงหาตามกิ่งก้านใบนั้นมิอาจพบได้" เพราะว่า "การแสวงหาพุทธธรรมโดยห่างจากจิต จักเข้าสู่ทางผิดเพี้ยน" แล้วเหตุใดจึงต้องไปทุ่มเทผิดทาง ต่อให้บำเพ็ญจนแก่ตายก็ไม่อาจสำเร็จได้ นี่ไม่ใช่เป็นเรื่องที่น่าเสียดายหรอกหรือ ?

     คำพูดที่ว่า "เซินเอ๋ย" ที่บรมครูเรียกนั้น คนทั่วไปอ่านแล้วกลับไม่รู้ว่า คำพูดนี้มีประโยชน์เหมือนดั่งการปลุกจิตให้ตื่น ทำให้ปราชญ์เจิงจื่อสำรวมจิตตั้งใจฟัง นี่ก็เฉกเช่นเดียวกับในอดีตที่พระเถระอู๋เย่ถามพระเถระหม่าจู่ว่า "อะไรคือวิถีจิตที่พระบรรจารย์รับสืบทอดกันอย่างลับๆ จากชมพูทวีป" พระเถระหม่าจู่ตอบว่า "เอาไว้ค่อยถาม !" พระเถระอู๋เย่กำลังเดินออกไป พระเถระหม่าจู่ก็ตะโกนเรียก "พระคุณเจ้า" เมื่อพระเถระอู๋เย่ได้ยินก็หันหลังกลับมา พระเถระหม่าจู่ถามต่อว่า "คืออะไร?" พระเถระอู๋เย่ก็ตื่นแจ้งในทันที

     คำพูดที่บรมครูขงจื่อกล่าวว่า "ธรรมแห่งเรานั้นอาศัยหนึ่งแจ้งแทงตลอด" ปราชญ์เจิงจื่อก็กระจ่างแจ้งความนัยทันที แต่ทว่า "หนึ่ง" นั้นคืออะไร? หนึ่งนั้นไม่สามารถคาดคิดถึงได้ ไม่อาจแบ่งออกได้ หากฝืนอธิบายก็อยู่เพียงแค่การรู้การเห็นเท่านั้น แต่ในการที่ไม่อาจอธิบายหรือกล่าวได้นั้น ก็ฝืนเรียกไปว่าจิตเดิม แต่ทว่า "ไม่กระจ่างแจ้งจิตเดิม ศึกษาธรรมวิถีใดก็ไร้ประโยชน์"
     ท่านเหลาจื่อกล่าวไว้ในคัมภีร์เต้าเต๋อจิงว่า "นับตั้งแต่โบราณกาลมา มหาธรรมนั้นบริสุทธิ์ไร้การปรุงแต่ง มีเพียงหนึ่งเดียว ดังนั้นธรรมะจึงเรียกได้อีกว่า "หนึ่ง" และก็คือจิตญาณของคนเรา

เมื่อฟ้าได้ัรับ "หนึ่ง" ก็จะสว่างไสวเรืองรอง
เมื่อแผ่นดินได้รับ "หนึ่ง" ก็จะนิ่งสงบ
เมื่อเทพเทวาได้รับ "หนึ่ง" ก็จะศักดิ์สิทธิ์
เมื่อคนได้รับ "หนึ่ง" ก็จะวิสุทธิ์สงบกระจ่างแจ้งธรรม
เมื่อหุบเขาได้รับ "หนึ่ง" ก็จะอุดมสมบูรณ์
เมื่อสรรพสิ่งได้รับ "หนึ่ง" ก็จะก่อเกิดและเติบโต
เมื่อกษัตริย์ได้ัรับ "หนึ่ง" ก็จะเที่ยงตรง บ้านเมืองมั่นคงสุขสงบ

     ฟ้าดินและสรรพสิ่งทั้งปวงก่อเกิดจนสมบูรณ์ได้ก็ด้วย "หนึ่ง" ความสำคัญของการได้รับ "หนึ่ง" นั้น เห็นได้จากที่กล่าวมานี้ ปราชญ์เอี๋ยนหุยคือ "พระอริยะที่เมื่อได้ัรับ หนึ่ง ก็กระจ่างทั้งหมดทั้งมวลได้"

     หลังจากที่ปราชญ์เจิงจื่อได้กระจ่างแจ้งความนัยแล้ว ก็ตอบคำถามของศิษย์ีพี่ศิษย์น้องทั้งหลายว่า "หลักธรรมของอาจารย์มีเพียงความซื่อสัตย์ภักดี และความโอบอ้อมอารีให้อภัยเท่านั้นเอง !"
     แต่ในคัมภีร์จง-หยง(คัมภีร์ทางสายกลาง)กลับกล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า "เมื่อมีความซื่อสัตย์ภักดีและโอบอ้อมอารีให้อภัย นั่นก็ห่างจากธรรมไม่ไกลแล้ว !" จะเห็นได้ว่าความซื่อสัตย์ภักดีและความโอบอ้อมอารีให้อภัยนั้นมิใช่สภาวะเดิมแห่งธรรม แต่ก็ใกล้กับธรรมแล้ว

..........................................................................................................................................................................................

(บทความต่อไป)...อะไรเรียกว่าหลักธรรมของความซื่อสัตย์ภักดีและโอบอ้อมอารีให้อภัย